สกสว. พร้อมบูรณาการหน่วยงานรับมือภัยพิบัติขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการอนุรักษ์โบราณสถาน ...

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเวทีถอดบทเรียนการทรุดตัวของเจดีย์วัดศรีสุพรรณ หวังใช้ความรู้และเทคโนโลยีจากงานวิจัยยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ และแก้ปัญหาการอนุรักษ์โบราณสถานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมดันการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานบนฐาน ววน. เป็นวาระแห่งชาติ



12 ตุลาคม 2565 - รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนา “ การรับมือภัยพิบัติเพื่ออนุรักษ์โบราณสถาน ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ” ณ ห้องประชุม สกสว. เพื่อรายงานสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มความเสียหายของโบราณสถานสำคัญในประเทศไทยจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการใช้ความรู้และเทคโนโลยีในการสำรวจและอนุรักษ์โบราณสถาน ตลอดจนการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในการเตรียมพร้อมรับมือและแก้ปัญหาการอนุรักษ์โบราณสถานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า.. หลังการทรุดตัวของเจดีย์วัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่ จึงจำเป็นต้องถอดบทเรียนการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อโบราณสถาน ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ควรอยู่ในแผนงานปรับตัวเพื่อรองรับภัยพิบัติ หรือแผนงานด้านศิลปวัฒนธรรมของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) นั่นคือ การวางแผนอนุรักษ์และบำรุงรักษาโบราณสถานที่มีผลกระทบตามความสำคัญเร่งด่วนโดยใช้ ววน. อีกทั้งเตรียมองค์ความรู้และข้อมูลในการวางแผนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อยกระดับการบริหารจัดการภัยพิบัติและการอนุรักษ์โบราณสถานสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

นายทินกร ทาทอง ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณีวิทยา เผยถึง.. การเฝ้าระวังสถานการณ์ดินถล่มในพื้นที่ภาคเหนือว่าจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มหลายแห่ง แม้วัดศรีสุพรรณจะอยู่นอกพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม แต่เกิดถล่มในช่วงฝนตกหนัก โดยมีรอยร้าวเกิดขึ้นนานแล้วและพระธาตุเอียง ส่วนใหญ่เกิดจากการทรุดตัวไม่เท่ากันของพื้นดิน และมีฝนตกหนักเป็นตัวกระตุ้น เพราะในอดีตไม่ได้ตอกเสาเข็ม คุณสมบัติของดินและการรับน้ำหนักจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อชุ่มน้ำ ทั้งนี้กรมทรัพยากรธรณีได้จัดทำแผนที่ชี้เป้าเสี่ยงภัย สร้างความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้หลีกเลี่ยงเมื่อมีสิ่งบอกเหตุและมีเวลาเตรียมตัวหนี การทำแผนอพยพ การตั้งศูนย์ธรณีพิบัติภัยเพื่อเฝ้าระวัง น้ำท่วมและดินถล่มมักจะเกิดในช่วงเดือนกันยายนโดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์และแหล่งมรดกทางธรณี เช่น ซ่อมแซมถ้ำนาคา อนุรักษ์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ โดยใช้วิทยาศาสตร์ในการตอบโจทย์ที่สามารถพิสูจน์ได้

ขณะที่ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระบุว่า.. แผ่นดินไหวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำลายโบราณสถาน นักวิจัยได้นำข้อมูลแผ่นดินไหวมาแปลงเป็นแผนที่เสี่ยงภัยและเทียบกับแผนที่เสี่ยงภัยของต่างประเทศ เพื่อหามาตรการรองรับที่เหมาะสม ส่วนโบราณสถานส่วนใหญ่มีโครงสร้างเป็นอิฐก่อที่อ่อนแอกว่าคอนกรีตเสริมเหล็ก ถ้าเสริมกำลังจะช่วยลดความเสียหายจากแผ่นดินไหวได้ ปัจจุบันคณะนักวิจัยได้พัฒนาแบบจำลองเมืองเชียงใหม่และเชียงรายเพื่อประเมินผลกระทบและความเสียหายจากภัยพิบัติหลากหลายรูปแบบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะนำข้อมูลความเสี่ยงแผ่นดินไหว ธรณีวิทยา ตำแหน่งและความอ่อนแอของสิ่งปลูกสร้างมาวิเคราะห์คำนวณความเสียหาย เพื่อวางแผนรับมือและมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความสูญเสีย

ศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง.. การใช้เทคโนโลยีเพื่อบันทึกข้อมูล ตรวจสอบสภาพและประเมินความมั่นคงของโบราณสถาน ว่า.. จำเป็นต้องบันทึกข้อมูลที่ถูกต้องทั้งในอดีตและปัจจุบันเกี่ยวกับรอยร้าวต่าง ๆ และติดตามการขยายตัวของรอยร้าว รวมถึงแผนอนุรักษ์บำรุงรักษาตามหลักวิศวกรรม โดยนักวิจัยนำข้อมูลสามมิติที่สำรวจได้ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอยุธยามาจัดทำฐานข้อมูลดิจิทัล เพื่อบำรุงรักษาและป้องกันส่วนที่ยังมีสภาพดี เสริมความมั่นคงให้กับส่วนที่เสื่อมสภาพ รวมถึงการซ่อมแซม สร้างทดแทนส่วนที่ชำรุด ทั้งนี้แนวทางการสนับสนุนการอนุรักษ์โบราณสถานจะต้องมีเจ้าของที่มีความรับผิดชอบเต็ม รวมถึงบทบาทของยูเนสโกต่อมรดกโลกบนฐานวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่อนุรักษ์ความแท้และดั้งเดิมตามหลักโบราณคดีจึงจำเป็นต้องสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัย พร้อมกับสร้างจิตสำนึกของการอนุรักษ์โบราณสถานแก่ชุมชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และสร้างเรื่องราวความน่าสนใจให้กับโบราณสถาน

ผศ.ดร.กฤษฎา ไชยสาร เสริมว่า.. การใช้โดรนเก็บข้อมูลและสร้างโมเดลสามมิติสามารถสร้างแผนภาพพื้นผิวความละเอียดสูงเพื่อนำไปต่อยอดตรวจสอบความเสียหายหรือเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอตรวจจับรอยร้าวและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติโดยไม่ใช้คน สามารถตรวจสอบได้เป็นระยะ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย มีความถูกต้องและแม่นยำสูงกว่าร้อยละ 90 ซึ่งสามารถนำผลลัพธ์ไปขยายผลเพื่อวางแผนหรือประเมินราคาวัสดุที่ต้องใช้ในการบูรณะ

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย เผยว่า.. ได้วิเคราะห์โครงสร้างโบราณสถานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สร้างแบบจำลองไฟไนต์เอลิเมนต์ 3 มิติ และศึกษาการก่อสร้างในพื้นที่ดินอ่อนที่เสี่ยงต่อการทรุดตัวและการเอียงตัวของโครงสร้าง ทั้งยังมีศักยภาพที่จะขยายความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหว โดยวิเคราะห์โครงสร้างแทนแรงแผ่นดินไหวด้วยกราฟสเปกตรัมตอบสนองเชิงอัตราเร่ง ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดของ มยผ. 1302 มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว รวมถึงศึกษาการกระจายหน่วยแรง ความเครียด และกลไกการรับน้ำหนักของโครงสร้างโบราณสถาน เพื่อระบุตำแหน่งวิกฤติภายในโครงสร้างที่อาจจะลุกลามไปจุดอื่น ๆ ซึ่งจะต้องหาแนวทางการเสริมกำลังในรูปแบบต่าง ๆ เช่น อัดฉีดน้ำปูน เสริมเหล็ก เสริมโครงสร้างด้านใน ปรับปรุงคุณสมบัติของดินและอิฐชั้นฐาน ทั้งนี้ต้องมีระบบเตือนภัย วิจัยและทดลองโดยให้ความสำคัญกับการตรวจจับและเสริมกำลังเจดีย์ ซึ่งจะต้องบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายธนภูมิ อัตตฤทธิ์ วิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เผยถึง.. การใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการอนุรักษ์โบราณสถาน อาทิ Photogrammetry เก็บข้อมูลเชิง 3 มิติ โดยประมวลผลภาพถ่ายของวัตถุ รวมทั้งข้อมูลด้านการอนุรักษ์ แบบรูปสภาพปัจจุบันและรายละเอียดของโบราณสถาน ทำให้ได้ภาพออกมา 3 แบบ คือ ภาพ 3 มติ ภาพแบบมวล และภาพ point cloud ซึ่งสามารถเลือกภาพไปใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ ขณะที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จากกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และทีมภัณฑารักษ์ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ร่วมกันดำเนินการจัดทำทะเบียน อนุรักษ์สภาพโบราณวัตถุ และทำการตรวจองค์ประกอบของธาตุภายในเนื้อโลหะ (XRF) ของโบราณวัตถุเพื่อจำแนกประเภท อายุสมัยของโบราณวัตถุ และกำหนดแนวทางอนุรักษ์ในเชิงลึก สำหรับเจดีย์วัดศรีสุพรรณที่นำมาเป็นบทเรียนในการดูแลรักษา คาดว่าน่าจะผ่านการเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง ตลอดจนการเสื่อมสภาพของวัสดุ สภาพภูมิอากาศ การกัดเซาะของน้ำฝนจากการรั่วซึม วัชพืชหรือต้นไม้ ทั้งนี้เห็นด้วยว่าจะต้องบันทึกข้อมูลรอยร้าวที่มีผลต่อโครงสร้างเพื่อวางแผนการบำรุงรักษา กรมศิลปากรยังขาดแคลนบุคลากร หากได้รับความร่วมมือจาก สกสว. และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ช่วยกันสนับสนุน และทำงานเชิงรุกร่วมกันก็ยินดี




“ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยจะต้องร่วมมือกันทั้งในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กรมศิลปากร และกรมทรัพยากรธรณี เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแต่ต้องมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนช่วยกันยกร่างแผน ข้อมูลการจัดเก็บ การถ่ายทอดเทคโนโลยี จัดลำดับความสำคัญและเชื่อมโยงบทบาทของ สกสว. กับหน่วยงานต่าง ๆ สร้างเครือข่ายนักวิชาการที่สนใจเพื่อทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ โดยอาจเสนอเป็นแผนระดับชาติเพื่อให้เห็นภาพใหญ่ และสนับสนุนการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รัฐมตรี อว.ให้ความสำคัญกับเรื่องธัชภูมิหรือภูมิปัญญาของพื้นที่ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อสร้างเรื่องราวที่เชื่อมโยงพื้นที่กับภูมิภาค ซึ่งสามารถนำบูรณาการกันได้ ” ผอ.สกสว. กล่าวสรุป ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

CP LAND ปรับแผนสื่อสารเจาะนิวเจน พบถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดชาร์ตอันดับ 2 จากผลสำรวจของ Zanroo ...

3 หน่วยงาน ขานรับนโยบาย กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) อย่างมีระบบ ...