วช. จัด NRCT Open House 2023 ชี้แนวทางนักวิจัยรุ่นใหม่ สู่การพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยอย่างยั่งยืน ...
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 และ แถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2023 ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธาน เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม และกรอบการวิจัยและนวัตกรรมที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นในรูปแบบ Onsite ณ ห้องจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และในรูปแบบออนไลน์ผ่าน VDO Conference ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Streaming) ผ่านช่องทาง Facebook Fanpage : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า.. วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน วช. เห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคน และสถาบันด้านการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นก้าวแรกและก้าวที่สำคัญ เนื่องจากการวิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และทำให้ประเทศสามารถปรับตัวรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม 20 ปี และแผนกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี และเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม จึงต้องมีการขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรมที่ชัดเจนและเป็นระบบ มีการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงการสร้างนวัตกรรมที่พลิกโฉมฉับพลันอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 2566 – 2570 ได้กำหนดเป็นมาตราการในการช่วยกระตุ้นโดยเป้าหมายในปีงบประมาณ 2570 ที่จะเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ที่ทำงานได้เต็มเวลา (FTE) ให้อยู่ในสัดส่วน 40 คน ต่อประชากร 10,000 คน เพิ่มนักวิทยาศาสตร์และนวัตกรที่มีทักษะสูงร่วมสร้างหรือพัฒนากับภาคเอกชน เพิ่มขึ้นเป็น 30 คนต่อประชำกร 10,000 คน ภายในปี 2570 ประเทศไทยจะมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์และนวัตกรที่ผ่านการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม เป็นร้อยละ 80 เป็นการเพิ่มจำนวนบุคลากรการวิจัยและพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและนวัตกรที่มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Tier 1 และ/หรือมีผลงานที่จดสิทธิบัตรในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้น
สำหรับประเด็นมุ่งเน้น ในปี 2567 วช. เน้นการสร้างและพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ที่ 1, 2 และ 3 เพิ่มการสร้างเครือข่ายความมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ (Global Partnership) และการพัฒนานักวิจัยให้มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้แผนการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการนั้น เป็นไปตามเป้าหมายที่สำคัญ คือ มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์และนวัตกร ในสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคเอกชน ที่มีทักษะสูงจำนวนมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและเป็นเลิศระดับสากล และมีการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่จำเป็นควบคู่กับการมีทักษะสูงด้านวิชาชีพและวิชาการ
ภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “ มุมมองใหม่... สู่เส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม ” โดย ศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย วช., ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย วช. และ รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สกสว. จากนั้น เป็นการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ โดย คุณธรรมภรณ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 3
ปิดท้ายที่การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้จากการรับทุนพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัย การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม จากโครงการวิจัย เรื่อง “ พยาธิสรีรวิทยาทางประสาทและแนวทางการรักษาแบบใหม่ในภาวะสูงอายุร่วมกับภาวะอ้วน: จากไมโตคอนเดรียถึงผู้ป่วย ” โดย ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) ดร.ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, โครงการวิจัย เรื่อง “ พยาธิสรีรวิทยาและศักยภาพการประยุกต์ใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่คัดเลือกเพื่อการรักษาความเป็นพิษ ต่อระบบทางเดินอาหารของยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งไทโรซีนไคเนส : การศึกษาเพื่อพิสูจน์แนวคิดโดยใช้แบบจำลองลำไส้ภายนอกร่างกายมนุษย์ ” โดย ศ. ดร. นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล, โครงการวิจัย เรื่อง “ การสร้างมูลค่าพลาสติกชีวภาพด้วยนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์เชิงฟังก์ชันสำหรับอาหาร ” โดย รศ. ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, โครงการวิจัย เรื่อง “ การวิจัยและพัฒนาเครื่องมือวัด เกณฑ์ประเมินสุขภาพด้วยตนเองทางดิจิทัลและผลการใช้หลักสูตรส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพตามหลักพอเพียงเพื่อลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในกลุ่มวัยเรียนและวัยทำงาน ” โดย รศ. ดร.อังศินันท์ อินทรกำแหง แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, โครงการวิจัย เรื่อง “ การระบุการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมและบทบาทหน้าที่ของโปรตีน Calmodulin-regulated spectrinassociated proteins (CAMSAPs) ในเซลล์มะเร็งปอดเพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพและโปรตีนเป้าหมายในการรักษา ” โดย รศ. ภญ. ดร.วริษา พงศ์เรขนานนท์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการวิจัย เรื่อง “ ความรู้ในการสอนจำเพาะเนื้อหาโดยใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาทางวิชาชีพครู : การใช้หลักการสอนสำหรับผู้ใหญ่ควบคู่กับเทคโนโลยีการเรียนรู้แบบจำเพาะบุคคล ” โดย ดร.ภาวัต ไชยพิเดช แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ การทำงานวิจัยอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน การกำหนดโจทย์วิจัยที่ดีคือมองให้เห็นภาพงานวิจัยให้ถึงปลายทาง นักวิจัยต้องมีฐานความรู้ความเชี่ยวชาญ/ทีมงาน/เครือข่ายที่เข้มแข็ง และการเขียน Output Outcome และ Impact ในงานวิจัยด้านสังคม
ทั้งนี้ วช. กำหนดจัดการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2567 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2023 ระหว่างวันที่ 19 - 27 มิถุนายน 2566 โดยมีประเด็นการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมใน 9 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูงและศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอาเซียน 2. ด้านสังคมและความมั่นคง 3. ด้านการพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ 4. ด้านการรองรับสังคมสูงวัย 5. ด้านสัตว์เศรษฐกิจ 6. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 8. ด้านเศรษฐกิจและการเกษตร และ 9. ด้านการจัดการความรู้การวิจัยและถ่ายทอดเพื่อการใช้ประโยชน์ (KM) ซึ่งการชี้แจงกรอบการวิจัยฯ ทั้ง 9 ด้าน นั้น จะทำให้นักวิจัยได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญไปสู่การพัฒนาและต่อยอดงานวิจัยในอนาคต ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น