กองทุน ววน. โดย บพข. จับมือ รฟท. มรภ.ลำปาง เปิดเส้นทางรถไฟท่องเที่ยวสายเหนือส่วนขยาย มุ่งยกระดับและสร้างรายได้จังหวัดเมืองรอง ...

เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2566, กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานคณะกรรมส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จัดพิธีเปิดการเดินรถไฟท่องเที่ยวรอบปฐมฤกษ์เชิงพาณิชย์และการทดสอบสินค้า และบริการทางการท่องเที่ยว ตามแผนงานวิจัยการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ บนเส้นทางรถไฟสายเหนือส่วนขยาย (เชียงใหม่ - ลำปาง ไปยังพิษณุโลก) ปี 2566 โดยรถไฟขบวนพิเศษ Lanna Modernization 954 ที่ได้นำเอาประวัติศาสตร์การสร้างรถไฟสายเหนือมาเป็นจุดเชื่อมโยงการจัดเส้นทาง เป็นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวอื่น ๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการท่องเที่ยวแบบใหม่ โดยให้รถไฟเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการท่องเที่ยวรถไฟสายวัฒนธรรม ท่องเที่ยวธรรมชาติวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของท้องถิ่น 

โอกาสนี้ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า.. โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยรถไฟในครั้งนี้ นับเป็นการดำเนินการรถไฟท่องเที่ยวส่วนต่อขยายจากเส้นเดิมที่เชื่อมต่อระหว่าง จ.เชียงใหม่ – ลำพูน - ลำปาง เชื่อมต่อขยายมายัง จ.พิษณุโลก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยทางมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้ดำเนินการวิจัยและออกแบบเส้นทางร่วมกับ รฟท. โดยในระยะแรก มีจำนวนทั้งหมด 4 โปรแกรมการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมาก เนื่องด้วยตลอดเส้นทางนั้น เต็มไปด้วยเสน่ห์และความงดงามให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมธรรมชาติตลอดทั้งเส้นทาง รวมทั้งการเสริฟอาหารท้องถิ่นระหว่างโดยสารบนขบวนรถไฟ อีกด้วย

“ โดยทาง บพข. และ สกสว.หวังว่าจะเป็นการพัฒนาโครงการดังกล่าว ให้เป็นต้นแบบของการดำเนินงาน ที่ช่วยยกระดับอุสาหกรรมสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจในชุมชน พร้อมทั้งกระตุ้นและเพิ่มโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางไปยังจังหวัดเมืองรอง ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ สร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว นำไปสู่การก่อเกิดรายได้แก่ชุมชนในอนาคตอย่างมั่นคง และยั่งยืน ” ผศ.สุภาวดี กล่าวเสริม

นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า.. ทางการรถไฟมีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเดินรถไฟท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งของทางรถไฟ ที่นอกเหนือจากการขนส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้าแล้ว ก็ยังเป็นการนำเที่ยวแบบครบวงจร เพื่อเพิ่มมูลการขนส่งทางรถไฟ กระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจขยายตัวของตามภูมิภาคที่ขบวนรถไฟนำเที่ยวผ่าน พร้อมทั้งขอเชิญชวนประชาชนมาท่องเที่ยวในเส้นทางสายเหนือนี้ เพราะเป็นการท่องเที่ยวแบบครบวงจร รวมถึงเส้นทางท่องเที่ยวสายอีสานและสายใต้ ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้

ด้าน ผศ.ณัฐนันท์ ฐิติยาปราโมทย์ หัวหน้าแผนงานวิจัย, ดร.ปัณณทัต กัลยา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง พร้อมทีมคณะนักวิจัย เปิดเผยว่า.. จากผลการดำเนินงานตามแผนโครงการวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟบนเส้นทางยุคสมัยแห่งล้านนา ที่ได้รับทุนวิจัยจาก บพข. ในปีงบประมาณ 2564 ที่มีการทดลองการเดินรถไฟท่องเที่ยวรอบปฐมฤกษ์ใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว สื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นอย่างมาก เนื่องจากผลการทดลองเดินรถไฟส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชุมชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว 




สำหรับการเชื่อมโยงธุรกิจในภาคเหนือแผนงานวิจัยนี้ ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่ 1) โครงการการพัฒนารูปแบบเส้นทาง กิจกรรมและผลิตภัณฑ์บริการของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางรถไฟสายเหนือส่วนขยาย และ 2) โครงการการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายเหนือส่วนต่อขยาย ที่มุ่งเน้นการพัฒนารูปแบบการเชื่อมโยงเส้นทางส่วนขยาย และการพัฒนาโมเดลการบริหารจัดการ เพื่อยกระดับและเชื่อมโยงเส้นทางส่วนขยายการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยรถไฟสายเหนือ ด้วยรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ในลักษณะของการบูรณาการศาสตร์ทางวิชาการและการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอก อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ผู้ประกอบการ ชุมชนในพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในด้านการท่องเที่ยว





โดยในวันแรก ขบวนรถไฟเริ่มออกจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ มุ่งหน้าสู่สถานีรถไฟลำพูน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้โดยสารรถรางเข้าชมเมืองลำพูน เข้าร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก จ.ลำพูน ก่อนจะออกเดินทางไปยัง “ สะพานขาวทาชมภู ” ที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและเป็นเหมือนอนุสรณ์ของการสร้างทางรถไฟสายเหนือจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ “ ปากอุโมงค์ถ้ำขุนตาล ” ส่วนสำคัญของสายเหนือ ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ก่อนออกเดินทางสู่สถานีรถไฟลำปาง สถานีปลายทางของกิจกรรมในวันแรก และเส้นทางในวันที่สอง เริ่มจากสถานีรถไฟลำปาง มุ่งหน้าไปยังสถานีรถไฟบ้านปิน และสถานีรถไฟปางต้นผึ้ง ให้นักท่องเที่ยวได้ชมของดีของที่ระลึกในชุมชน อาทิ ผ้ามัดย้อม ผลิตภัณฑ์ OTOP อาหารท้องถิ่น ก่อนออกเดินทางสู่จุดหมายปลายทางในครั้งนี้ ที่สถานีรถไฟพิษณุโลก





นอกจากนี้ ทางทีมคณะวิจัยได้เตรียมขยายผลไปในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยมีจุดเริ่มต้นที่หาดใหญ่ มุ่งเน้นในเส้นทางระหว่างอ่าวไทยสู่อันดามัน และเตรียมขยายผลในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยคาดว่าจะเป็นเส้นทางจาก จ.ขอนแก่น ไปสู่เวียงจันทน์ ก่อนจะเชื่อมต่อระหว่างภาคเหนือ ภาคใต้ และ ภาคอีสาน เพื่อให้เป็น Gateway รถไฟการท่องเที่ยวสายยาวในอนาคต อีกด้วย ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ททท. ร่วมมือกับ บขส. จัดรถนำเที่ยวฟรี 10 วัน โอกาสครั้งสำคัญ เปิดกรุ มรดกธรรมล้ำค่าแห่งยุครัตนโกสินทร์ เส้นทางเที่ยวชมโบราณวัตถุล้ำค่าที่หาดูได้ยากกับกิจกรรม “ เป็นบุญตา ครั้งหนึ่งในชีวิต ”

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

สมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย (TACCO) แถลงข่าวการจัดตั้งสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย พร้อมเปิดตัว งาน Thailand Craft Chocolate Fest’24 ...