สกสว. ร่วมมือกับ ธนาคารโลก ในการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทย ...
กรุงเทพฯ 16 พฤษภาคม 2566 – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมมือกับ ธนาคารโลก เพื่อส่งเสริมนโยบายการพัฒนานวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภาพการเติบโตของประเทศไทย โดยภายใต้ความร่วมมือนี้ ธนาคารโลกและ สกสว. จะจัดทำรายงาน Policy Effectiveness Review (PER) เกี่ยวกับนโยบายการพัฒนานวัตกรรมผ่านการลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของภาคเอกชน โดยรายงานฯ จะพิจารณาแนวทางการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทย เพื่อประเมินความสอดคล้องของนโยบายปัจจุบันกับความท้าทายและจำเป็นของประเทศไทยในด้านนี้
รายงานของธนาคารโลกเกี่ยวกับนวัตกรรมในการพัฒนาเอเชียตะวันออกเน้นย้ำถึงย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี หลายประเทศในภูมิภาคนี้ รวมถึงประเทศไทย ยังไม่สามารถพัฒนาให้เท่าทันกับประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมได้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน โดยประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรองลงมาร่วมกับมาเลเซีย เวียดนาม และมองโกเลีย โดยมาเลเซียมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่ใกล้กับประเทศผู้นำฯ มากที่สุด
“ ความร่วมมือกับธนาคารโลกครั้งนี้ จะเป็นการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วน รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดต่างๆ ในการดำเนินโครงการทบทวนนโยบายประสิทธิผล (PER) ของนโยบายนวัตกรรมของประเทศไทย ” รศ.ดร. ปัทมาวดี โพขนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า.. ผลสัมฤทธิ์ของโครงการนี้คาดว่าจะช่วยให้รัฐไทยสามารถออกแบบกลไกมาตรการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของไทย ที่เหมาะสมกับการสร้างศักยภาพของภาคเอกชนไทยในวงกว้าง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเศรษฐกิจไทย
จากการวิจัยระบบนวัตกรรมของประเทศที่มีอยู่ การพัฒนาด้านนวัตกรรมของไทยมีข้อจำกัดในหลายด้านที่ควรพัฒนาให้เพียงพอเพื่อผลักดันให้งานด้านวิทยาศาสตร์และวิจัยก้าวหน้าทัดเทียมประเทศผู้นำฯในระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึงช่องว่างด้านทักษะสำคัญอันจากการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคนิค ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับศูนย์วิจัยต่าง ๆ นอกจากนี้ กฎระเบียบในการนำเข้าปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม (Science, Technology, and Innovation – STI) และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ SME ก็เป็นข้อจำกัดสำคัญของการเติบโตทางธุรกิจ
ในการผลักดันการพัฒนาด้านนวัตกรรมนั้น ผู้มีอำนาจจำเป็นต้องจัดลำดับความเร่งด่วนของนโยบายที่สำคัญต่อการพัฒนาระดับความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคเอกชนของประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างบริษัทที่เกี่ยวโยงกับบริษัทข้ามชาติและธุรกิจขนาดเล็กในประเทศ
คุณเซซิล เนียง ผู้จัดการสายงานการเงิน ความสามารถในการแข่งขัน และ นวัตกรรม ธนาคารโลกประจำภาคพื้นเอเซียและแปซิฟิค กล่าวว่า.. นวัตกรรมมีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถพัฒนาเป็นประเทศรายได้สูงได้ และเราเชื่อว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้สามารถออกแบบนโยบายผลักดันนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของผลิตภาพทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านส่งผลให้การพัฒนาด้านนวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดและประหยัดพลังงานจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โครงการความร่วมมือทางเทคนิคนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก สกสว. ภายใต้กรอบสัญญาการให้บริการที่ปรึกษา (Reimbursable Advisory Services : RAS) ของธนาคารโลก โดยธนาคารโลกทำงานร่วมกับประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงภายใต้โครงการนี้ตามคำขอของประเทศสมาชิก โดยให้บริการด้านการให้คำปรึกษา การวิเคราะห์ และสนับสนุนการดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับความท้าทายในการพัฒนาที่สำคัญในอนาคตได้ดีขึ้น ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น