วช. จับมือ มข. ลงนามขยายพื้นที่ต้นแบบแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ร่วมกับ อ.มัญจาคีรี และ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ...
ที่หอประชุมโรงเรียนมัญจาศึกษา อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น / เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เข้าร่วมพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ และกิจกรรมตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีด้วยอัลตราซาวด์ตามโครงการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี และ โครงการความร่วมมือเพื่อป้องกันกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับเทศบาลตำบลมัญจาคีรี และคณะกรรมการชุมชนเทศบาลตำบลมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำโดย นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดย รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม กรรมการและเลขานุการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี เทศบาลตำบลมัญจาคีรี นำโดย นายธีระยุทธ ต้องสู้, คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอมัญจาคีรี นำโดย นายกานต์ ทองเสน ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง และ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอหนองเรือ นำโดย นายพิชิต แสนเสนา พร้อมหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น, คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7, สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น, ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น, ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น, สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น, โรงพยาบาลมัญจาคีรี และ มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ได้ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) “ ความร่วมมือเพื่อป้องกันและกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในพื้นที่ต้นแบบ ” โดยได้รับเกียรติจาก นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ดังกล่าว โดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือการพัฒนาและขับเคลื่อนต้นแบบในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างครบวงจรอย่างยั่งยืน ผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยการรณรงค์และสร้างความตระหนักในปัญหาตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ส่งเสริมการนำหลักสูตรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อนํ้าดีไปใช้ในโรงเรียน ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลเพื่อการตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับ พัฒนาเครือข่ายอาหารปลอดภัย : ปลาปลอดพยาธิใบไม้ตับ และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางสาธารณสุขร่วมกัน
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงการสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ว่า.. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะหน่วยงานบริหารทุนการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านการขับเคลื่อนโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่มีเป้าหมายชัดเจน โดยมุ่งหวังให้เกิดการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นการบูรณาการสหสาขาวิชาร่วมกับพื้นที่ ในการที่จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของพื้นที่อย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของประเทศอย่างยั่งยืน
ดังนั้น วช. จึงได้สนับสนุนทุนการดำเนินงานวิจัย ภายใต้ แผนงานวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ (Fluke Free Thailand) แก่ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยหวังผลให้ปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้าดีนั้นลดน้อยลงหรือจนกระทั่งหมดไปจากประเทศไทย และจากการดำเนินการวิจัยที่ผ่านมาสามารถสร้างนวัตกรรมอันเป็นผลิตผลสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้มากมาย อาทิ..
1) ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ผ่านโปรแกรม “Isan cohort”
2) ระบบขอคำปรึกษาสำหรับแพทย์ผู้ตรวจอัลตราซาวด์ “ Tele-radio consultation ”
3) การวิเคราะห์ผลอัลตราซาวด์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Ai-Ultrasound)
4) การแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือที่เรียกว่า “ อำเภอต้นแบบ ”
5) ชุดตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับสำเร็จรูปชนิดเร็ว (OV-Rapid Diagnosis Test – OV-RDT) เป็นต้น
6) หลักสูตรการเรียนการสอนในการป้องกันกำจัดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในเด็กและเยาวชน
“ วช. รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่ง ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว โดยเฉพาะการที่สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี จะนำนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่จริง ด้วยการขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานภายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นนี้ และ วช. ยินดีที่จะให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยขอนแก่น และหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยในทุกๆ ด้าน ที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยต่อไป ”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น