63 ปี วช. จัด Talk Show “ มุมมองคนรุ่นใหม่ วิจัยสิ่งแวดล้อม ” จุดประกายการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ...

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวที Talk Show เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เรื่อง “ มุมมองคนรุ่นใหม่ วิจัยสิ่งแวดล้อม ” เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา วช.ครบรอบ 63 ปี โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช  หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กล่าวต้อนรับ ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 

 

นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช หัวหน้าภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า..  วช. ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยของประเทศเห็นความสำคัญของการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์จากการวิจัย หน่วยงานที่ต้องปฏิบัติงานวิจัย และกลุ่มของชุมชน ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนแนวคิดตอบโจทย์วิจัยที่ท้าทายสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืน  ซึ่งตรงกับคำขวัญของ “ วช. ครบรอบ 63 ปี มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม ”  




ในเวที Talk Show มีการนำเสนอมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมผ่าน 3 ตัวแทนคนรุ่นใหม่ คือ “ พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ” ผู้ที่นอกจากจะสนใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้ลงมือปฏิบัติและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า “ เอริกา เมษินทรีย์ ” ผู้ริเริ่มแพลตฟอร์มของเยาวชน โดยเชิญชวนเยาวชนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ในภาคส่วนต่าง ๆ ในประเด็นสำคัญ ๆ และ “ เกรซ  คริสติน ริชาร์ดสัน ” ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญด้านนี้จนตัดสินใจเลือกศึกษาในคณะวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม   

นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน และ ผู้ก่อตั้ง ECOLIFE platform บริษัท คิดคิด จำกัด กล่าวว่า.. จุดเริ่มต้นในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เมื่อชมภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Truth  ซึ่งคุณอัลกอร์มาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อม และบอกว่าโลกกำลังมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งหากสูงขึ้นเกิน 1.5 - 2 องศา ขึ้นไปก็จะไม่สามารถที่จะซ่อมแซมให้กลับมาเหมือนเดิมได้แล้วจะแย่ลง ดังนั้นพวกเราจึงต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อที่คนที่จะต้องอาศัยอยู่ในรุ่นต่อๆ ไป ไม่ควรที่จะต้องมาเจอกับสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี  10 กว่าปีที่ผ่านมา จึงทำหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาตลอด 

ทั้งนี้ นายพิพัฒน์ ได้นำเสนอผลงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  เช่น เครื่องดนตรี  Ukulele ที่มีการออกแบบเพื่อลดการใช้ไม้ลงถึง  70 %  และศูนย์การเรียนรู้เคลื่อนที่  ซึ่งดัดแปลงมาจากกระเป๋าเดินทางที่ไม่ได้ใช้แล้ว  ซึ่งพอเปิดออกมาก็กลายเป็นเปลเด็ก เป็นโต๊ะ เป็นชั้นวางหนังสือ เป็นที่ใส่ของ เป็นลำโพง  คุณครูสามารถพกพาไปสอนเด็กๆ ในชุมชนแออัดได้อย่างสะดวก  


“ เวลาที่เราคิดเรื่องการทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสังคม สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้ ต่อยอดได้ วิธีการของผมก่อนที่จะได้พวกนี้มา เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ การวิจัย คำถามคือทำไมต้องออกแบบให้กลายเป็นเปลเด็กด้วย เพราะว่าเราลงพื้นที่ทำวิจัยกับคนที่อยู่ในชุมชนแออัด พ่อแม่ต้องหาเช้ากินค่ำ คนที่อยู่ที่บ้านจะเป็นผู้สูงอายุกับเด็กแล้วเด็กบางคนต้องเลี้ยงน้องด้วย ดังนั้นเวลาที่เข้ามาเรียนรู้กับเรา เขาจำเป็นที่จะต้องเอาน้องเขาไปอยู่สักที่หนึ่ง เราเลยออกแบบเปลไว้ให้น้องเขามาพักที่เปลนี้ได้แล้วเขาก็สามารถมาเรียนรู้กับจิตอาสาได้ ” 

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า.. คนรุ่นใหม่ที่บางทีอาจจะยังไม่ได้สนใจเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งน่าเสียดาย และไม่อยากที่จะให้ใครตกขบวนในเรื่องนี้ สิ่งแวดล้อมคือเรื่องที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกวัน คนรุ่นใหม่อยากที่จะทำงานแบบที่ตัวเองได้มีความสุขในแบบที่ตัวเองจะรัก ผมคิดว่าถ้าใครยังมองไม่ออกหรือยังไม่รู้ว่าเราจะได้ทำงานอะไรที่เรารัก อาจจะลองมองอีกแบบว่า “เราจะทำงานอะไรที่เราเป็นประโยชน์ เพราะเวลาที่เราทำงานที่เป็นประโยชน์ เช่น ประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน  ผมเชื่อว่าคุณจะรักในงานนี้ต่อไปแน่ ๆ ”  ซึ่งสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เข้ากับชีวิตประจำวัน  เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่จึงอยากจะขอฝากให้ลองปรับเปลี่ยนตัวเองให้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ปรับพฤติกรรมหรือจะเข้ามาทำงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น     

ด้าน นางสาวเอริกา เมษินทรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิน เดอะ ลีด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม Youth In Charge กล่าวว่า.. สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นเรื่องสำหรับทุกคน ชุมชน เยาวชน เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ คนหลายๆ ช่วงวัย หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น  ซึ่งคิดว่าเรื่องของความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตขึ้นมาของคนคนหนึ่งทีเดียว  เนื่องจากเราทำงานด้านเยาวชนผ่าน Youth In Charge แล้วจะเห็นได้ชัดว่าคนเจน ( Generation ) นี้แตกต่างจากเจนอื่น ๆ เพราะนอกจากจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 ในขณะที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีทั้งเรื่อง Climate Change ภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้นและมีมากขึ้นเรื่อย ๆ  เยาวชนเจนนี้จะมีความรู้สึกร่วมถึงการได้รับผลกระทบมากๆ จึงควรดึงเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการหาโซลูชั่น  ตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่ใช่แค่เสนอความคิดเห็นเล็กน้อย 


“ เวทีนี้เป็นของ วช. คิดว่าส่วนหนึ่งของการที่จะแก้ปัญหาที่ต้นน้ำก็มาจากการวิจัยเหมือนกัน คิดว่าหลายๆ คนหลายๆ ภาคส่วนหันมาทำการวิจัยหันมาศึกษาเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่ใช่การศึกษาแค่ศึกษา แต่ว่าอยากให้เพื่อหาทางออกอย่างจริงจัง และน่าจะดึงพลังเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้มากขึ้น แล้วก็ไม่ใช่ปล่อยเยาวชนทำกันเอง ควรจะมีผู้ใหญ่กับเยาวชนเข้ามาทำร่วมกัน เพราะว่าเราเชื่อเสมอผ่าน Youth In Charge ที่ทำอยู่ ว่าพลังที่แท้จริงไม่ใช่อยู่แค่คนช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่ง แต่จะเป็นการผนึกกำลังแล้วนำสิ่งดีๆที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะแต่ละ Generation มาเสริมซึ่งกันและกันมากกว่า ”  

นางสาวเกรซ คริสติน ริชาร์ดสัน กล่าวว่า.. สำหรับเรื่องการศึกษา  สิ่งแวดล้อมควรจะอยู่ในทุก ๆ ศาสตร์ อยู่ในทุก ๆ สาขาวิชา และในอนาคตเพื่อขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้ ควรจะมาพร้อมกับเรื่องของเงินทุน มีการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้มาขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น  เราอยากจะเห็นอาชีพใหม่ ๆ ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเกิดขึ้น  เพราะว่าสุดท้ายแล้วแม้เราจะตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมแทบตาย แต่ถ้าเราเอาตัวเองไม่รอด ก็ไม่สามารถจะแปลงออกมาเป็นอาชีพ แปลงออกมาเป็นธุรกิจที่แก้ปัญหาเรื่องปากท้องและความเป็นอยู่ของเราได้ มันก็จะไม่ยั่งยืน ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

CP LAND ปรับแผนสื่อสารเจาะนิวเจน พบถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดชาร์ตอันดับ 2 จากผลสำรวจของ Zanroo ...

3 หน่วยงาน ขานรับนโยบาย กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) อย่างมีระบบ ...