วช. หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี Zero Waste แปรรูปขยะเป็นสินทรัพย์กับต้นแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง ...
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หนุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี ด้วยกลไก Zero Waste แปรรูปขยะเป็นสินทรัพย์กับต้นแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งยากแก่การกำจัดมาเป็นวัตถุดิบราคาสูงในอุตสาหกรรมเวชสำอาง
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า.. ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกหอยแมลงภู่รายใหญ่ของโลก ทำให้มีปริมาณเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลหลายหมื่นตันต่อปี และด้วยเปลือกหอยแมลงภู่ต้องกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบไม่สามารถเผาทำลายได้ ทำให้ปัจจุบันมีเปลือกหอยแมลงภู่จำนวนมากถูกทิ้งในพื้นที่สาธารณะ สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงสนับสนุนทุนวิจัย ปีงบประมาณ 2565 ให้กับโครงการ “ต้นแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง” เพื่อพัฒนาวิธีการแปรูปเปลือกหอยแมลงภู่ ให้เป็นสินค้านวัตกรรม ที่นำเอกลักษณ์และสมบัติเฉพาะของแคลเซียมคาร์บอเนตเปลือกหอยแมลงภู่ มาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ประดับ ตกแต่ง และเครื่องสำอาง ซึ่งนับเป็นการสนับสนุนกลไก Zero Waste ที่รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม และยังเกิดการแปรรูปขยะเหลือทิ้งให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจบีซีจีของประเทศไทย
สำหรับโครงการดังกล่าวมี “ ศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธิ์ ” อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมีทีมนวัตกร ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิวัฒน์ วชิรวงศ์กวิน และ รองศาสตราจารย์ ดร.คเณศ วงษ์ระวี อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค สวทช.) และ ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง นักวิจัยหลังปริญญาเอก ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ หนึ่งในทีมนวัตกร ฯ เปิดเผยว่า.. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลในพื้นที่ตำบลแหลมใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้และจ้างงานในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์หอยแมลงภู่ดองและหอยแมลงภู่ตากแห้งเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่นของพื้นที่ซึ่งวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ตำบลแหลมใหญ่จะจ้างชาวบ้านในพื้นที่แกะเนื้อหอย แล้วรับเนื้อหอยที่แกะแล้วกลับไปแปรรูป ปัญหาที่ตามมาคือขยะจากเปลือกหอยแมลงภู่ ซึ่งมีมากกว่า 50 % ของน้ำหนักหอยแมลงภู่สด
“ ปัจจุบันการกำจัดเปลือกหอยแมลงภู่มีวิธีเดียวคือการฝังกลบ ชาวบ้านมีปัญหาในการหาพื้นที่ทิ้งเปลือกหอย เพราะการขนย้ายเปลือกหอยไปทิ้งก็มีค่าใช้จ่ายสูง จึงเกิดการทิ้งเปลือกหอยในบริเวณบ้านหรือพื้นที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดมลพิษจากกลิ่นเน่าเหม็น ก่อปัญหาสุขภาพ ทัศนียภาพ รวมไปถึงการวางแผนการพัฒนาพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐ “การแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง” จึงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณขยะเปลือกหอยแมลงภู่ที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะนักวิจัยได้มีการศึกษาความเป็นไปได้เชิงเทคนิคแล้ว พบว่าสามารถแปรรูปขยะเปลือกหอยแมลงภู่ให้เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตบริสุทธิ์ อัญรูปอะราโกไนต์ ซึ่งขนาดของแผ่นอยู่ที่ 3 – 7 ไมครอน หนา 300 – 500 นาโนเมตร สามารถใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเวชสำอาง อุตสาหกรรมอาหารและสุขภาพ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อทดแทนการนำแคลเซียมคาร์บอเนตคุณภาพสูงจากต่างประเทศ ”
สำหรับกระบวนการแปรรูป ดร. ชุติพันธ์ กล่าวว่า.. เป็นกระบวนการที่ไม่ซับซ้อน ใช้วัตถุดิบ อุปกรณ์และสารเคมีที่มีในประเทศ สามารถถ่ายทอดให้กับวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยใช้ในการจัดการขยะจากเปลือกหอยเองได้ วิธีการที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการสร้างของเสีย (Zero Waste Process) เพราะสามารถแปรรูปสารเคมีที่เหลือจากกระบวนการผลิตให้เป็นปุ๋ยสำหรับภาคการเกษตรได้ทั้งหมด ส่วนผลิตภัณฑ์แคลเซียมคาร์บอเนตที่ผลิตได้ สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในสินค้า OTOP ได้หลากหลาย ซึ่งคณะนักวิจัยได้นำต้นแบบผลิตภัณฑ์ฯ มาจัดแสดงในงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างเช่น สบู่ขัดผิวผสมผงประกายมุก ซึ่งเป็นการแปรรูปเปลือกหอยแมลงภู่ ให้เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตบริสุทธิ์ ที่มีคุณภาพสูง สามารถกระจายตัวได้ดีในวัตถุดิบสำหรับทำสบู่ และทำให้เกิดฟองขนาดเล็ก ทำความสะอาดผิวได้ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีโลชั่นบำรุงผิวผสมผงมุก ที่เพิ่มความขาวกระจ่างใสให้ผิว โดยไม่ทำให้ผิวระคายเคืองเนื่องจากเป็นวัสดุจากธรรมชาติ มีคุณสมบัติสะท้อนรังสี UVB ได้ดี และผลิตภัณฑ์ทรายอะราโกไนต์จากเปลือกหอยแมลงภู่ สำหรับตู้ปลาสวยงาม ที่สามารถนำมาใช้ทดแทนปะการัง ช่วยปรับสภาพน้ำให้มีความเหมาะสมกับการเลี้ยงปลาทะเลสวยงามอีกด้วย ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น