วงสัมมนา “ 50 ปี 14 ตุลา ” เสนอรัฐบาล มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจกระแสใหม่ BCD ...

ที่ ห้องประชุมราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์  ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร / เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 14 ตุลาคม 2566 มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา จัดสัมมนาทางวิชาการครั้งที่ 5 “ 50ปี 14 ตุลา ” เรื่อง “ จังหวะก้าวการพัฒนาที่สมดุล ต่อเนื่อง มั่นคง และรอบด้าน ” มีบรรดาอดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลา  2516 และ 6  ตุลา 2519  อดีตนักการเมือง และอดีตผู้นำในภาคส่วนต่างๆ พร้อมประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมงาน อาทิ.. นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด, นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสมาชิก, นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ, นายพงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส, นายพีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา และ นายไพศาล พืชมงคล นักคิดอิสระ ฯลฯ

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายหัวข้อ “ ก้าวย่างการเติบโตอย่างทั่วถึง ” ว่า.. ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา สิ่งที่เรียกร้องกัน คือ เสรีภาพและประชาธิปไตย  ซึ่งมองกันว่าการมีรัฐธรรมนูญคือประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงการมีรัฐธรรมนูญไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประชาธิปไตย  เพราะการเมืองการปกครองจะเป็นประชาธิปไตยได้ 3 อำนาจจะต้องคานอำนาจกัน ทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ  เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษาและประชาชน จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดี



อดีตปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวอีกว่า.. มาวันนี้การแก้ไขความยากจนจะต้องใช้วิธีประกาศสงคราม ซึ่งจะใช้นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมไม่ได้ ต้องใช้แนวความคิดเศรษฐกิจกระแสใหม่ นั่นคือ BCD  คือ เศรษฐกิจชีวภาพ(Bioeconomy) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ( Creative Economy)และเศรษฐกิจดิจิทัล(Digital Economy) ในส่วนเศรษฐกิจชีวภาพนั้นหลักใหญ่อยู่ที่ภาคเกษตร ซึ่งมี 9 ล้านครอบครัว ประมาณ 20 ล้านคน ทั้งนี้จำเป็นต้องแปรรูปผลผลิตให้เพิ่มมูลค่า จะทำเกษตรแบบดั้งเดิมไม่ได้ ต้องใช้เกษตรเทคโนโลยีหรือเกษตรอัจฉริยะเท่านั้น 


“ ในส่วนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในชุมชนในจังหวัด มีทั้งภูมิปัญญาชาวบ้านและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ หรือที่เรียกว่า “ ซอฟต์พาวเวอร์ ” ซึ่งมีทั้งเรื่องอาหาร ศิลปะ หัตถกรรม แฟชั่น สถาปัตยกรรม ศิลปะการต่อสู้ และขนบธรรมเนียมประเพณีที่น่าสนใจ ทั้งนี้จะต้องทำให้เป็นสมัยนิยมเข้าไปด้วย ถ้ารัฐบาลชุดนี้ดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจ BCD จะแก้ปัญหาความยากจน และช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ระดับแรกก็ให้พออยู่พอกิน ระดับต่อไปให้อยู่ดีกินดี เพื่อให้คนชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้คนไทยทั้งประเทศเติบโตอย่างทั่วถึง อุดมการณ์ 14 ตุลา มีเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ตั้งเป้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และไม่ติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ” ดร.สถิตย์ กล่าว




ดร.สถิตย์ กล่าวเพิ่มว่า.. ในอดีตประเทศไทยคือกรุงเทพ ถนนทุกสายมุ่งหน้ามาที่นี่ ต่อมาความเจริญขยายไปยังปริมาณฑลและหัวเมืองใหญ่ในแต่ภาครวมกรุงเทพด้วยทั้งหมด 15 จังหวัด ความเจริญและการพัฒนาด้านต่างๆร้อยละ 70 อยู่ที่ 15 จังหวัดนี้ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยไม่ใช่แค่ 15 จังหวัด เพื่อให้มีการพัฒนาเติบโตอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ 77 จังหวัด โดยกระจายความเจริญไปยัง 62 จังหวัดที่ได้รับการพัฒนาแค่ร้อยละ  30



“ การเติบโตอย่างทั่วถึงจะต้องทำโครงสร้างพื้นฐานการปกครอง สังคม สุขภาพสาธารณสุข และการศึกษาที่มีคุณภาพ ทั้งระดับต้นจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายเติบโตทั่วทั้งประเทศ ต้องดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ.. 1.) การขจัดความยากจน 2.) ทำให้คนไทยอยู่ดีกินดี ” ดร.สถิตย์ กล่าว และว่า ปัจจุบันเส้นวัดความยากจนของคนไทยอยู่ที่รายได้ 2800 บาทต่อเดือนต่อคน ถ้าได้น้อยกว่านี้ถือว่าอยู่ใต้เส้นความยากจน เวลานี้มีอยู่ 4.8 ล้านคน จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้พ้นความยากจน ซึ่งจะต้องกำหนดเป้าหมายร่วมกัน โดยใช้กลไกแก้ไขปัญหาในแต่ละจังหวัดที่แตกต่างกันไป  ...

🔴 Facebook LIVE.. การสัมมนาวิชาการ ครั้งที่ 5 “ 50 ปี 14 ตุลา : ทางเลือกในการแก้ไขปัญหาประเทศ ” ณ โรงแรมรัตน์โกสินทร์ ราชดำเนิน กรุงเทพฯ 

https://fb.watch/nGyTDXz7xE/?mibextid=Nif5oz ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ททท. ร่วมมือกับ บขส. จัดรถนำเที่ยวฟรี 10 วัน โอกาสครั้งสำคัญ เปิดกรุ มรดกธรรมล้ำค่าแห่งยุครัตนโกสินทร์ เส้นทางเที่ยวชมโบราณวัตถุล้ำค่าที่หาดูได้ยากกับกิจกรรม “ เป็นบุญตา ครั้งหนึ่งในชีวิต ”

สมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย (TACCO) แถลงข่าวการจัดตั้งสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย พร้อมเปิดตัว งาน Thailand Craft Chocolate Fest’24 ...

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’