สกสว. หนุนเสริม ฟิสิกส์ จุฬาฯ พาตะลุยมิติควอนตัม หนึ่งในงานวิจัยขั้นแนวหน้า มุ่งพลิกโฉมประเทศไทย ...
ที่ โรงภาพยนตร์ พารากอนซีนีเพล็กซ์ / เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566, คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาพร้อมรับชมภาพยนตร์ “ ควอนตัมฟิสิกส์ ชัวร์หรือมั่ว ในภาพยนตร์ Ant-man ” เพื่อใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อช่วยให้นิสิต นักศึกษา และสาธารณชนทั่วไป ได้มีโอกาสเรียนรู้หลักการพื้นฐานทางฟิสิกส์ผ่านรูปแบบภาพยนตร์ โดยมี รศ. ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคน และสถาบันความรู้ สกสว. เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนในประเด็นการสนับสนุนงานวิจัยทางด้าน frontier research ในประเทศไทย
ศ.ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า.. ที่ผ่านมา เด็กจำนวนมากประสบปัญหาในการเรียนฟิสิกส์ เนื่องจากมองว่าวิชาฟิสิกส์มุ่งเน้นที่การคำนวณ ท่องจำสูตรต่าง ๆ ที่ปราศจากความเข้าใจในหลักการพื้นฐาน การใช้เหตุผลในการวิเคราะห์ปัญหา ทำให้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้นมา ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีแนวคิดในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของนิสิตต่อวิชาฟิสิกส์ ด้วยการเปิดรายวิชาฟิสิกส์ในภาพยนตร์ (Physics in Films) ขึ้น เพื่อใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อช่วยให้นิสิตทุกคณะ ได้มีโอกาสได้เรียนรู้หลักการพื้นฐานทางฟิสิกส์
ที่ผ่านมา ทางภาควิชาฟิสิกส์ ได้จัดให้มีกิจกรรม Physics in Films สัญจรขึ้นแล้ว 3 ครั้ง เพื่อเป็นการเสวนาพร้อมกับรับชมภาพยนตร์ โดยหวังให้เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนทั่วไปที่ชื่นชอบการชมภาพยนตร์ ประกอบกับได้เรียนรู้หลักการพื้นฐานทางฟิสิกส์ อีกด้วย ได้แก่ 1.) Interstellar: เสวนาเกี่ยวกับพื้นที่และเวลาในอวกาศ 2.) Tenet: เสวนาเกี่ยวกับการเดินทางย้อนเวลา เอนโทรปี และกฎข้อที่สองทางอุณหพลศาสตร์ 3.) Black Panther: เสวนาเกี่ยวกับวัสดุขั้นสูง (advanced material) และการนำมาประยุกต์ใช้ และ ในครั้งที่ 4 นี้ ได้จัดเสวนาเรื่อง Ant-man เกี่ยวกับฟิสิกส์ควอนตัม ที่หลายคนยังสงสัยว่าคืออะไร
รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคน และสถาบันความรู้ สกสว. กล่าวว่า.. ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีควอนตัมไม่น้อยไปกว่าประเทศชั้นนำอื่น ๆ ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 3 ของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 ตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 - 2570 กล่าวถึง การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ที่มีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนากำลังคน สำหรับงานวิจัยระดับขั้นแนวหน้าที่จะยกกระดับให้ประเทศก้าวหน้าล้ำยุคใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.) เทคโนโลยีควอนตัม 2.) เทคโนโลยีด้านฟิสิกส์พลังงานสูงและฟิสิกส์พลาสมา และ 3.) เทคโนโลยีเกี่ยวกับโลกและอวกาศ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการเสริมสร้างความเข้มแข็งในงานวิจัยทั้ง 3 ด้าน ของประเทศผู้นำโลกด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป
ทั้งนี้ การสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สาธารณชน เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของโครงการทางวิทยาศาสตร์ใหญ่ในระดับโลก โครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ เป็นการลงทุนที่สูงและต้องการความต่อเนื่อง อาทิ สถาบันวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (European Organization for Nuclear Research, CERN) โครงการวิจัยและสร้างแหล่งกำเนิดพลังงานจากปฏิกิริยาฟิวชัน (International Thermonuclear Experimental Reactor, ITER) หรือสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station, ISS) จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสาธารณชน การสื่อสารวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างความเข้าใจ ความจำเป็น และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเหล่านี้ จึงเป็นประเด็นสำคัญที่องค์กรและนักวิจัยงานวิจัยขั้นแนวหน้าไม่อาจมองข้ามได้เลย
“ สำหรับ เทคโนโลยีควอนตัม เป็นการนำหลักการของฟิสิกส์ควอนตัม ซึ่งเป็นการศึกษาธรรมชาติของระบบขนาดเล็กในระดับอะตอมหรือเล็กกว่านั้น มาประยุกต์กับเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการวัด การคำนวณ การประมวลผล การเข้ารหัส การเก็บและส่งผ่านข้อมูล ให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าในปัจจุบันหลายเท่าตัว ด้วยความก้าวหน้าในงานวิจัยฟิสิกส์รากฐานและด้านเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การนำเทคโนโลยีควอนตัมมาใช้ในชีวิตประจำวันใกล้ความจริงมากขึ้น ขณะที่ ในอนาคตอันใกล้นี้ เทคโนโลยีควอนตัมจะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะพลิกโฉมประเทศไทย พลิกโฉมเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม สังคม และวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของประชากรโลก ” รศ. ดร.คมกฤต กล่าวสรุป ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น