ทอ. จัดเครื่องบิน Airbus 340-500 นำส่ง “ สิ่งของพระราชทาน ” ไปยังสาธารณรัฐตุรกี ...

พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พร้อมด้วย นาวาอากาศเอกหญิง พรรณประภา  วัณณรถ นายกสมาคมแม่บ้านทหารอากาศ และ นายนฤชัย นินนาท รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ รับฟังการบรรยายสรุปแผนการบิน พร้อมให้กำลังใจนักบินและเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศ ที่ปฏิบัติภารกิจบินนำส่งสิ่งของพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ไปยังสาธารณรัฐตุรกี เพื่อนำไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนชาวตุรกีที่ประสบเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 21.30 น. ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง





ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดหาสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็น เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนชาวตุรกีที่ประสบเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว โดยในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 15.00 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นายจิรายุ  อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทาน ได้แก่ เครื่องปั่นไฟขนาดเล็กซึ่งมีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ถุงนอนกันหนาวที่กันความเย็นได้ถึงอุณหภูมิติดลบ 24 องศาเซลเซียส เต็นท์นอนขนาดใหญ่ สำหรับ 5 - 6 คน ผ้านวมกันหนาว อาหารแห้ง นม และน้ำดื่ม ไปมอบให้แก่ นางแซรัป แอร์ซอย (Her Excellency Mrs. Serap Ersoy) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย ณ โรงเก็บอากาศยาน ฝูงบิน 601 กองบิน 6 กองทัพอากาศ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยมี นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และ พลอากาศเอก อลงกรณ์  วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ร่วมพิธี





ทั้งนี้ กองทัพอากาศ จัดเที่ยวบินพิเศษ เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 (Airbus 340-500) ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ในคืนวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 23.20 น. ไปยังสนามบินอังการา สาธารณรัฐตุรกี ใช้เวลาบิน 10 ชั่วโมง 15 นาที โดยปฏิบัติภารกิจบินนำส่งสิ่งของพระราชทาน ได้แก่ เครื่องปั่นไฟขนาดเล็กซึ่งมีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน ถุงนอนกันหนาวที่กันความเย็นได้ถึงอุณหภูมิติดลบ 24 องศาเซลเซียส เต็นท์นอนขนาดใหญ่ สำหรับ 5 - 6 คน ผ้านวมกันหนาว อาหารแห้ง นม และ น้ำดื่ม 





โดยในเที่ยวบินขากลับ จะรับคนไทยที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ ซึ่งในเบื้องต้นได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่ามีจำนวน 38 คน และลำเลียงร่างผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ร่าง โดยมีกำหนดออกเดินทางจากสนามบินอังการา สาธารณรัฐตุรกี ในวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00 น. (เวลาท้องถิ่น) และเดินทางถึง ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ในเวลา 21.10 น. (เวลาประเทศไทย)







กองทัพอากาศ จัดชุดแพทย์จากกรมแพทย์ทหารอากาศ และ สถาบันเวชศาสตร์การบินกองทัพอากาศ ร่วมเดินทางไปกับเที่ยวบินนี้ เพื่อดำเนินการตรวจสุขภาพขั้นต้นและเฝ้าระวังสุขภาพระหว่างการเดินทางให้แก่คนไทยที่เดินทางมากับเที่ยวบินดังกล่าว พร้อมทั้งจัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ร่วมรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติภารกิจด้วย



สำหรับเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 (Airbus 340-500) เป็นเครื่องบินที่สามารถบินเดินทางระยะไกล สามารถบรรทุกบุคคล อุปกรณ์ และสัมภาระได้จำนวนมาก สามารถแยกพื้นที่ (Zoning) ให้ผู้ประสบภัยและผู้เสียชีวิต รวมทั้งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ร่วมเดินทางได้พร้อมกัน อีกทั้งยังง่ายต่อการส่งแผนการบินข้ามเส้นน่านฟ้าหลายประเทศ เนื่องจากมีการจดทะเบียนในรูปแบบอากาศยานพลเรือน ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ททท. ร่วมมือกับ บขส. จัดรถนำเที่ยวฟรี 10 วัน โอกาสครั้งสำคัญ เปิดกรุ มรดกธรรมล้ำค่าแห่งยุครัตนโกสินทร์ เส้นทางเที่ยวชมโบราณวัตถุล้ำค่าที่หาดูได้ยากกับกิจกรรม “ เป็นบุญตา ครั้งหนึ่งในชีวิต ”

สมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย (TACCO) แถลงข่าวการจัดตั้งสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย พร้อมเปิดตัว งาน Thailand Craft Chocolate Fest’24 ...

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’