กรมศุลกากร ชี้แจง กรณีการจับกุมการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ ห้องเย็นในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 ...
วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2566) นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า.. ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าว วันที่ 30 สิงหาคม 2566 กรณีมีการนำเอกสารหลักฐานการนำเข้าจำนวน 4 ตู้คอนเทนเนอร์ แจ้งความดำเนินคดีที่ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ให้ดำเนินการตรวจสอบผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หลังพบหลักฐานจากการเข้าตรวจค้นห้องเย็นในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) พบการสำแดงเอกสารอันเป็นเท็จโดยสำแดงเป็นเม็ดพลาสติก แต่ภายในเป็นเนื้อสุกรแช่แข็ง ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย และไม่ผ่านการเสียภาษีศุลกากร นั้น
กรมศุลกากร ขอชี้แจงรายละเอียด ในประเด็นดังกล่าวว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ได้ขอหมายค้นของศาล จ.สมุทรสาคร ทำการตรวจค้นห้องเย็นในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร โดยเป็นการสนธิกำลังร่วมกัน ระหว่าง เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.1 บก.ปคบ. ผลการตรวจค้น พบซากสัตว์แช่แข็ง (เนื้อสุกรและขาไก่) มีเมืองกำเนิดจากต่างประเทศ รวมจำนวน 128,400 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 22 ล้านบาท ภายในห้องเย็นและบางส่วนบรรทุกอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์บนรถยนต์บรรทุกพ่วงคันดังกล่าว โดยไม่มีเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร ไม่มีใบอนุญาตให้นำหรือเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายใน เข้าใน หรือออกนอกเขตโรคระบาด เขตโรคระบาดชั่วคราว หรือเขตเฝ้าระวังโรคระบาด (ร.3) และไม่มีใบอนุญาตนำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ ที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (ร.6 และ ร.7) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งได้ยึดของกลางทั้งหมดดำเนินคดีตามกฎหมาย
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรยังคงให้ความสำคัญในการจับกุมผู้ที่ลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรมีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่องในทุกกรณี เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากสารปนเปื้อนและเชื้อ ASF อีกทั้ง ยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยว่าสินค้าสุกรจะดำเนินไปตามกลไกทางการตลาดอย่างแท้จริง
กรมศุลกากร ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษขอให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการสอบสวนและขยายผล สำหรับกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากรมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูเถื่อนนั้น กรมศุลกากรได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่ผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือกระทำให้เกิดความเสียหายต่อราชการหรือไม่ ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่และขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น