ใครไม่พร้อม แต่ “ ฟู้ดพร้อม ” ! มช. ส่งนวัตกรรมโภชนบำบัด แก้ปัญหาเบื่ออาหารด้วย AI เข้าประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ปี 66 ...
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัด “ งานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2566 ” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วัสสนัย วรรธนัจฉริยา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และหัวหน้าศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการขั้นสูง คณะวิศวกรรมศาสตร์ และทีมวิจัยบูรณาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำผลงาน “ ฟู้ดพร้อม ” เทคโนโลยีชาญฉลาดสำหรับการให้โภชนบำบัดและการผลิตอาหารแบบเฉพาะเจาะจง เข้าร่วมประกวดฯ ในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ เมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อคัดเลือกเข้ารับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2566
รองศาสตราจารย์ ดร.วัสสนัย วรรธนัจฉริยา หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า.. ฟู้ดพร้อม เทคโนโลยีชาญฉลาดสำหรับการให้โภชนบำบัดและการผลิตอาหารแบบเฉพาะเจาะจง เป็นแพลตฟอร์มที่คณะผู้ประดิษฐ์มีที่มาจากสหสาขาวิชา ร่วมกันพัฒนาขึ้นโดยเชื่อมโยงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชาญฉลาดในแต่ละสาขาเข้ามาตอบโจทย์การให้โภชนบำบัดและการผลิตอาหารแบบเฉพาะเจาะจง โดยจุดเริ่มต้นได้มุ่งเน้นกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้ป่วยสูงอายุในโรงพยาบาล ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวมีความแปลกใหม่เพราะยังไม่พบผลงานที่มีการพัฒนาระบบที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ใช้ กับข้อมูลอาหารที่ได้รับ เพื่อส่งต่อไปสู่การผลิตอาหารที่เหมาะสม โดยนำเอาแนวคิดปัญญาประดิษฐ์มาพัฒนาระบบสแกนอาหารแบบชาญฉลาดทั้งในรูปแบบแอพพลิเคชัน “ ฟู้ดสแกนเนอร์ ” และเครื่องสแกนอาหารแบบชาญฉลาด “ ปิ่นโต ” ในการประเมินสารอาหารและพลังงานที่ผู้รับประทานได้รับในแต่ละมื้อ ซึ่งข้อมูลปริมาณอาหารที่บริโภคไปได้นี้จะนำมาคำนวณเพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังระบบการผลิตอาหารแบบเฉพาะเจาะจง “ เชฟช้อยส์ ” หรือ เครื่องพิมพ์อาหารสามมิติแบบชาญฉลาด เพื่อทำการขึ้นรูปอาหารเสริมได้อย่างสอดคล้องกับฐานข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ใช้ ที่มีแอพพลิเคชันที่รองรับการทำงานของผู้ใช้ในการเลือกเมนูอาหารเสริมทั้งรสชาติและรูปทรงได้หลากหลาย และนักโภชนาการที่สามารถเข้ามาตรวจสอบและสั่งการผลิตได้ โดยระบบการทำงานของแพลตฟอร์มฟู๊ดพร้อมทั้งหมดนี้สามารถเชื่อมโยงกันผ่าน IoT เพื่อความคล่องตัวของผู้ใช้งานและผู้ให้บริการ
“ แพลตฟอร์มฟู้ดพร้อม สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลและหน่วยงานให้บริการเชิงอาหารและสุขภาพได้หลากหลาย ซึ่งสามารถทำให้วิเคราะห์ความต้องการทางโภชนาการที่ยังได้รับการตอบสนองไม่สมดุลส่งต่อไปสู่การผลิตอาหารได้อย่างพอเพียงและเหมาะสม ผ่านกลไกการทำงานที่มีระบบสารสนเทศเป็นแกนเชื่อมโยง เพื่อเกิดคุณค่าต่อทั้งผู้ให้และผู้รับบริการอย่างครบวงจร นอกจากนี้ ยังสามารถนำแพลตฟอร์มดังกล่าวไปสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลด้านโภชนาการอย่างเฉพาะเจาะจง รวมไปถึงกลุ่มตลาดผู้รักสุขภาพและใส่ใจในด้านการดูแลโภชนาการ ให้สอดคล้องต่อพื้นฐานข้อมูลสุขภาพของตนได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าและส่งต่อไปสู่การสร้างผลตอบแทนเชิงเศรษฐศาสตร์ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจอีกด้วย ” รศ.ดร.วัสสนัย วรรธนัจฉริยา หัวหน้าโครงการฯ กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน ผลงาน “ ฟู้ดพร้อม ” เทคโนโลยีชาญฉลาดสำหรับการให้โภชนบำบัดและการผลิตอาหารแบบเฉพาะเจาะจง ได้มีการศึกษาวิจัยและทดลองใช้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และศูนย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทั้ง 2 แห่งจะเป็นหน่วยงานหลักที่จะนำผลงานไปใช้ประโยชน์ระดับนำร่องและขยายผลต่อไปสู่หน่วยงานในเครือข่ายต่อไป ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น