วช. หนุนแผนรับมือ การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางอุทกวิทยาและฟลักซ์ ของลุ่มน้ำจิวหลง และ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ด้วยแผนการบริหารจัดการน้ำ ...
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้สนับสนุนโครงการวิจัยศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางอุทกวิทยาและฟลักซ์ของลุ่มน้ำจิวหลงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยการดำเนินการของศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาคและพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (Ramkhamhaeng University Center of Regional Climate Change and Renewable Energy , RU-CORE ) จากสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทั่วทุกภูมิภาคของโลกรวมถึงประเทศไทย ที่ทำให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย โดยเฉพาะภัยทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นและส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร จำเป็นอย่างยิ่งที่ในแต่ละประเทศต้องมีการศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อเตรียมแผนรับมือ เช่น การบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า.. วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนสนับสนุนงานวิจัย และนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสนับสนุนภาคการผลิตและอุตสาหกรรม เพื่อเสริมศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ ปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรในประเทศไทยนั้นคือยุทธศาสตร์ หรือ แผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือวิกฤติการณ์ หรือ ภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทาง วช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษา วิจัย คาดประมาณการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและผลกระทบต่อกระบวนการทางอุทกวิทยา เพื่อเตรียมรับมือในด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยในอนาคต โดย วช.ได้สนับสนุนให้ทาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดำเนินการศึกษาวิจัย
ผศ.ดร.จิรสรณ์ สันติสิริสมบูรณ์ หัวหน้าโครงการวิจัยศึกษาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางอุทกวิทยาและฟลักซ์ ของลุ่มน้ำจิวหลงและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับภูมิภาคและพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า.. การศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทย และ จีน โดยใช้ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นโมเดลในการศึกษาเปรียบเทียบกับลุ่มน้ำจิวหลง ของจีน เนื่องจากมีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศใกล้เคียงกับประเทศไทย ทั้งนี้การศึกษาได้ขยายไปถึงลุ่มน้ำซึ่งเป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน และลุ่มน้ำอื่นที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลจากแบบจำลองการคาดประมาณการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตที่ใช้ในการศึกษานี้ เป็นผลจากโครงการวิจัย SEACLID / CORDEX Southeast Asia ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง RU-CORE และนักวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยได้มีการทดสอบการจำลองภูมิอากาศวิทยา ( climatology ) ในอดีตของประเทศไทยของแบบจำลองดังกล่าว เปรียบเทียบกับค่าจากการตรวจวัดเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ในข้อมูลคาดประมาณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต แบบจำลองทางอุทกวิทยาที่พัฒนาขึ้นมานี้ ได้จำลองเหตุการณ์ในอดีตโดยใช้ข้อมูลภูมิอากาศในช่วงปี ค.ศ. 1970 - ค.ศ.2005 และการคาดประมาณอนาคตในช่วงปี ค.ศ. 2006 - ค.ศ. 2060 ผลการคาดประมาณการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต พบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะลดลง ซึ่งเป็นสัญญาณความถี่ของปีที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง มากกว่าปีที่จะประสบปัญหาอุทกภัย แต่จะมีแนวโน้มของฝนที่ตกหนักมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณของการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศดังกล่าว จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตในภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร
การขยายผลต่อยอดองค์ความรู้นี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการบูรณาการวางแผนรับมือในเรื่องบริหารจัดการน้ำ อาทิ พิจารณาปรับลดพื้นที่เพาะปลูกพืชที่ต้องการปริมาณน้ำมาก เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในการปรับตัวของภาคการเกษตร ( พ.ศ.2558-2567 ) ซึ่งมีเป้าหมายให้ภาคเกษตรไทยปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรักษา และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างความยั่งยืนของภาคเกษตร อย่างไรก็ตามการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทยสามารถเตรียมแผนรับมือให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนที่เกิดขึ้น ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น