อว. ร่วมกับ จุฬาฯ และ อินฟอร์มา จัดงาน 4th Water Forum “ การจัดการน้ำและน้ำเสียเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ”
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ 4th Water forum เรื่อง “ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำและน้ำเสียเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (Reshaping the future with innovation and technology for sustainable water and wastewater management) ” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ อินฟอร์มา มาร์เก็ต ประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการฯ ขึ้น เพื่อเป็นเวทีสำคัญระดับภูมิภาคในการนำเสนอแนวคิดและผลักดันการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และน้ำเสียที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดความยั่งยืน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวปาฐกถาเปิดงาน “ คนน้ำเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีผลกระทบสูงมาก เนื่องจากมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตทั้งในภาคเมืองและชุมชน การเกษตร อุตสาหกรรม บริการ รวมถึงการรักษาระบบนิเวศ ปัจจุบันมีอัตราการใช้น้ำต่อคนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพบปัญหาน้ำท่วม การเข้าถึงน้ำในเชิงปริมาณ คุณภาพ ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากกับการรับมือกับการบริหารจัดการน้ำที่จะมีความซับซ้อนยิ่งขึ้นเนื่องจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราจึงต้องมีระบบข้อมูลที่ดี ทั้งการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน เส้นทางการเดินทางของน้ำ รวมถึงมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ”
ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมเสวนา โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมเสวนาในหัวข้อ “ แนวทางการสนับสนุนนวัตกรรรมในการจัดการน้ำและผลงานที่ผ่านมา ” ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ในประเด็นเกี่ยวแผนการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในด้านการจัดการน้ำและการใช้ประโยชน์ต่อสังคม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า.. วช. บริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง และจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการวิจัยและนวัตกรรม ระยะ 5 ปี ของ วช. ที่สอดคล้องกับแผนระดับ 1 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนระดับ 2 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนระดับ 3 คือแผนระดับกระทรวง แผน ววน. เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยผ่านกลไกเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยหรือผู้สร้างผู้ผลิตสู่ผู้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยทั้งในเชิงวิชาการ นโยบาย พาณิชย์ และชุมชน/สังคม ซึ่งในส่วนการวิจัยและนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
วช. มีแผนการให้สนับสนุนการวิจัยในด้านการจัดการน้ำและการใช้ประโยชน์ต่อสังคม โดยมุ่งเน้นประเด็นการจัดการน้ำเสียภาคเมือง ชุมชน และอุตสาหกรรม รวมทั้ง อุทกภัยและภัยแล้ง และความมั่นคงด้านน้ำของประเทศต่อการผันแปรสภาพภูมิอากาศ ซึ่งผลสำเร็จของผลงานวิจัยที่ผ่านมา ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในภาคการจัดการน้ำชลประทาน การจัดการภัยพิบัติ การเติมน้ำใต้ดิน และการนำน้ำกลับมาใช้ภาคอุตสาหกรรม ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น