วช. จับมือ มสจท. และ สถาบันภาคี 46 หน่วยงาน ลงนาม MOU ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ...

ที่ห้องประชุมมิราเคิล แกรนด์ซี  โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพมหานคร / เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทย (มสจท.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงาน ระหว่าง วช. กับ มสจท. และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนแบบสหสถาบัน ระหว่างสถาบันภาคี และ วช.  โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน และศาสตราจารย์ แพทย์หญิงขวัญชนก ยิ้มแต้ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทย กล่าวรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (CREC)


ดร.วิภารัตน์  ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยในมนุษย์ อันจะก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ร่วมมือกับ มสจท. และสถาบันภาคี เพื่อร่วมมือกันพัฒนาระบบกลางใน การพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน โดยมี วช. เป็นผู้ให้การสนับสนุน และมี มสจท. เป็นผู้ดูแล และจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่..






ฉบับที่ 1 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับ มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาวิจัยในคนในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการวิจัยคลินิก หรือการวิจัยในคนในประเทศไทย สามารถพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมปกป้องอาสาสมัครในการวิจัยผ่านระบบการร่วมพิจารณาด้านจริยธรรมการวิจัยในสหสถาบันที่มีมาตรฐานสากล








ฉบับที่ 2 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนแบบสหสถาบัน ระหว่างสถาบันภาคี และ วช. จำนวน 46 หน่วยงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานจริยธรรมการวิจัยในคนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคนของสถาบันและแบบสหสถาบัน ให้สอดคล้องกับการวิจัยทางคลินิกที่ดี และหลักจริยธรรมการวิจัยในคน




โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ มีสาระสำคัญคือ

1. ร่วมมือกันในการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานด้านจริยธรรมการวิจัยในคนในสถาบันภาคี

2. ร่วมมือกันในการดำเนินการของระบบกลางในการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (Central Independent Ethics Committees System) โดยแต่งตั้งคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (Central Research Ethics Committees : CREC) เพื่อพิจารณาโครงการวิจัยสหสถาบัน

3. สถาบันภาคีจะให้การรับรองโครงร่างการวิจัยที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน โดยไม่ต้องพิจารณาซ้ำที่สถาบันภาคี หรือพิจารณาอย่างรวดเร็วและ       อำนวยความสะดวกให้มากที่สุด ทั้งนี้ สถาบันภาคีแต่ละแห่งจะกำหนดไว้ในวิธีดำเนินการมาตรฐาน (SOPs) ว่าด้วยการจัดการกับโครงการวิจัยที่ได้รับการพิจารณารับรองจากคณะกรรมการกลางพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (CREC) 




ทั้งนี้ การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานดังกล่าว ระหว่าง วช. กับ มสจท. และสถาบันภาคี มีการลงนามมาแล้ว ดังนี้

- ครั้งที่ 1 ลงนามความร่วมมือ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2555

- ครั้งที่ 2 ลงนามความร่วมมือ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558

- ครั้งที่ 3 ลงนามความร่วมมือ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2561



โดยบันทึกความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว วช., มสจท. และ สถาบันภาคี จึงทำความตกลงร่วมมือกันต่อเนื่องอีก เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพใน การบริหารจัดการเกี่ยวกับการพัฒนาจริยธรรมการวิจัยในคน และในวันนี้มีจำนวนสถาบันภาคีที่มาร่วมลงนามทั้งหมดจำนวน 46 หน่วยงาน ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานด้านจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์สู่มาตรฐานสากลในอนาคตต่อไป ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

“ ศิลปินนักพันผ้า ” หนึ่งเดียวในไทย “ โสภาส ณ ตะกั่วทุ่ง ” ผู้คิดค้นวิธีรักษาผืนผ้าไหมไทยทั้งผืนเอาไว้เพื่อคนรุ่นหลัง ...

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

CP LAND ปรับแผนสื่อสารเจาะนิวเจน พบถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดชาร์ตอันดับ 2 จากผลสำรวจของ Zanroo ...