วช. ชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสังคมและความมั่นคง ในงาน NRCT Open House 2022 ...
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2566 พร้อมแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2022 “ วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ ” ด้านสังคมและความมั่นคง เพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการรับข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ที่ วช. ให้การสนับสนุนทุนในปี 2566
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรมประจำปีงบประมาณ 2566 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) NRCT Open House 2022 “ ด้านสังคมและความมั่นคง ” ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และออนไลน์ผ่านวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook Live ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและความมั่นคง รวมถึงเปิดโอกาสให้นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิของ วช. ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอรับทุนของ วช. โดยมีดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า.. วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลสำเร็จจากการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ โดยประเทศไทยในครึ่งปีแรกของปี 2565 กำลังเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงานที่ปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหาที่ยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศไทยที่ยังเกิดขึ้นอยู่ เช่น เรื่องหนี้สินครัวเรือนที่ยังเพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่ยังคงเป็นปัญหาฝังรากลึกในสังคมไทยมาอย่างช้านาน และปัญหาทางด้านสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดย วช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยด้านสังคมที่จะนำไปใช้ในการตอบโจทย์ปัญหาของประเทศและเตรียมพร้อมในการรับมือสถานการณ์สังคมของประเทศไทยที่เกิดขึ้นด้วยการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นสำคัญต่างๆ โดยวางเป้าหมายเพื่อสร้างสังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืนและมีความมั่นคงในทุกมิติ จำนวน 7 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ 1) กลุ่มเรื่อง คนไทย 4.0 เพื่อสังคมคุณธรรม 2) กลุ่มเรื่อง การเสริมสร้างธรรมาภิบาลและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน 3) กลุ่มเรื่องสังคมไทยไร้ความรุนแรง 4) กลุ่มเรื่องความปลอดภัยทางถนน 5) กลุ่มเรื่องมนุษยศาสตร์ 6) กลุ่มเรื่องสร้างสรรค์วิชาการงานศิลป์ 7) กลุ่มเรื่อง การวิจัยและพัฒนาสุนทรียภาพและความคิดสร้างสรรค์ของด้านศิลปกรรม”
นอกจากนี้ วช. ได้นำเสนอ “ ผลงานสำคัญ เพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมและความมั่นคง ” ประกอบด้วย โครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) แผนงานวิจัยท้าทายไทย : สังคมไทยไร้ความรุนแรง โครงการนวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงส่าหรับงานพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรม โครงการนวัตกรรมอุปกรณ์ตรวจวิเคราะห์สารเสพติดประสิทธิภาพสูงแบบพกพาเพื่อเฝ้าระวังการระบาดของยาเสพติด แผนงานขยายผลการวิจัยสู่การปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลงการอำนวยความยุติธรรมสาหรับเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
กิจกรรมภายในงานประชุมการชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสังคมและความมั่นคง ประจำปีงบประมาณ 2566 ยังมีการเสวนาเรื่อง แนวทางการเขียนข้อเสนอการวิจัย และการพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ 2566 ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์, ศ.(กิตติคุณ) ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์, ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ และ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด โดยมี รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ ร่วมเสวนาและดำเนินการเสวนา เพื่อเป็นแนวทางให้กับนักวิจัยได้ทราบถึงทิศทางการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการเขียนงานวิจัยและนวัตกรรมที่ดีว่าควรมีแนวทางปฏิบัติและดำเนินการอย่างไร
ในภาคบ่ายยังได้มีการแถลง “ ผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสังคมและความมั่นคง และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัย และการบริหารจัดการวิจัย ” ของนักวิจัย จำนวน 5 ท่าน ประกอบด้วย ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก, รศ.สมบัติ ประจญศานต์, ผศ.ดร. อนันต์ แย้มเยื่อน, ศ.พล.ต.ต.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา และ รศ.ดร.สุนีย์ กัลป์ยะจิตร ซึ่งได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการวิจัย และแนวทางการบริหารพัฒนาโครงการอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น