PDPC ปล่อยหมัดเด็ด “ PDPC Eagle Eye ” หน่วยติดตาม เฝ้าระวัง การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แม่นยำ ...
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ขานรับนโนบายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เดินหน้าทำงานในเชิงรุก ปล่อยหมัดเด็ด เปิดศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล “ PDPC Eagle Eye ” ติดตาม เฝ้าระวัง การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตรวจสอบความผิดปกติบนเครือข่าย Search engine เว็บใต้ดิน และเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐ เผยสถิติการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวัง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 - เดือนเมษายน 2567 25,063 หน่วยงาน ช่วยเหลือแก้ไขแล้ว 5,953 เคส พร้อมประสานงานทุกภาคส่วน ช่วยเหลือปกป้องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ภายใต้กฎหมาย PDPA
ศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล “ PDPC Eagle Eye ” เปิดเผย.. ปัจจุบันปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคคล และ ข้อมูลรั่วไหลของหน่วยงานในภาครัฐ และ ภาคเอกชน เป็นปัญหาที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้รับความเดือดร้อน อย่างที่เราเห็นจากข่าวตามสื่อต่างๆแทบทุกวัน ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือ แฮกเกอร์ สแกมเมอร์ ก็พยายามพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆมาหลอกหลวงผู้คน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงเดินหน้าทำงานในเชิงรุก เปิดศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล “ PDPC Eagle Eye ” หน่วยงานภายใต้สำนักตรวจสอบและกำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล โดย “ PDPC Eagle Eye ” มีหน้าที่ความรับผิดชอบดังนี้..
1. สำรวจข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตว่ามีการเผยแพร่ ข้อมูลส่วนบุคคลอันอาจมีความเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
2. เก็บรวบรวมข้อมูลและติดตามสถานการณ์บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนเครื่องมือศูนย์ฯ รวมถึงการรับแจ้งเหตุการละเมิด เพื่อเป็นสถิติ ในการประเมินสถานการณ์ต่อไป
3. วิเคราะห์ข้อมูลจากการเก็บรวบรวม เพื่อนำเสนอให้กับผู้บริหารทราบ และประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
4. ตรวจสอบและพิสูจน์หลักฐานด้วยมาตรฐานสากล เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้กับพี่น้องประชาชน
“ PDPC Eagle Eye ” ได้พัฒนาโปรแกรมขึ้นมา บนฐานกฏหมาย PDPA ที่ถูกต้อง เพื่อตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวัง การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล บน Search engine เช่น Google และเว็บใต้ดินต่างๆ พร้อมกับสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งในอนาคต ทาง PDPC Eagle Eye จะทำการตรวจขยายไปยัง Search engine อื่น ๆ อีกด้วย ผสมผสานความรู้ ความสามารถของบุคลากรที่เข้าใจกฎหมาย PDPA และเทคโนโลยี เขียนและพัฒนาโปรแกรมตรวจจับการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และตรวจสอบการรั่วไหลของข้อมูลในหน่อยงานภาครัฐ ภาคเอกชน อย่างมีมาตรฐานต่อไป ซึ่งในขณะนี้ PDPC ทำการตรวจสอบประมาณ 100 เว็บไซต์ต่อวัน และหากตรวจพบว่ามีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือการรั่วไหลของข้อมูล จะทำการประสานทางหน่วยที่ทำข้อมูลรั่วไหล ให้นำสิ่งที่ทาง PDPC Eagle Eye ตรวจพบ โดยผ่านหนังสือทางราชการ พร้อมกับประสานทางโทรศัพท์ ในส่วนรับแจ้งเหตุเราจะตรวจสอบและให้หน่วยรายงานมาตรการต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ต่อไป
เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังและดูแลข้อมูลส่วนบุคคลให้มั่นคงขึ้น PDPC Eagle Eye ได้มีการประสานงานกับองค์กรต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและขยายผลการบังคับใช้กฎหมาย การซื้อขายข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
ศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล “ PDPC Eagle Eye ” ให้ข้อมูลปิดท้ายว่า.. ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ แพร่ขยายไปในวงกว้าง มีประชาชนถูกหลอกลวงได้รับความเสียหายทุกๆ วัน จากสถิติการทำงานของ PDPC Eagle Eye ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 จนถึงปัจจุบัน เราได้ทำการตรวจสอบ ติดตามเฝ้าระวัง การละเมิดข้อมูลส่วนตัวและการรั่วไหลของข้อมูล ตามมติ ครม. แล้วจำนวน 25,063 หน่วย พบว่ามีการรั่วไหลของข้อมูล จำนวน 5,963 เคส และทำการแก้ไขช่วยเหลือสำเร็จแล้ว จำนวน 5,953 เคส หรือกว่า 99.83% ซึ่งเร็วนี้เราจะทำการเปิดหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานขึ้น เพื่อย่นระยะเวลาในการทำงานให้เร็วขึ้น เมื่อตรวจสอบพบการละเมิดหรือรั่วไหลของข้อมูล เราจะนำหลักฐานต่างๆมาตรวจสอบ และส่งยื่นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วนต่อไป ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น