วธ. เดินหน้าเชิดชูอาหารถิ่น 77 จังหวัด ปีที่ 2 ยกระดับสู่เมนูยอดนิยมเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมอาหารไทย ...
รัฐบาล โดย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เดินหน้าเชิดชูอาหารถิ่น 77 จังหวัด ปีที่ 2 ยกระดับสู่เมนูยอดนิยมเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมอาหารไทย สร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจท้องถิ่นและประเทศ
กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) พร้อม ภาคีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมขับเคลื่อน “ 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “ รสชาติ..ที่หายไป The Lost Taste ” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ผลักดันสู่เมนูอาหารยอดนิยม เสริมภาคการท่องเที่ยว หนุนความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่น
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า.. เมื่อปี 2566 วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการร่วมกับกาชาด 77 จังหวัดทั่วประเทศ เฟ้นหา “ 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “ รสชาติ..ที่หายไป The Lost Taste ” ซึ่งได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วน ประชาชนทั่วไปรวมถึงนักท่องเที่ยวให้ความสนใจตามหาและชิมเมนูอาหารที่หารับประทานได้ยากของจังหวัดต่าง ๆ โดยในหลายเมนูได้รับการพัฒนาต่อยอดให้เป็นเมนูยอดนิยม กระต้นภาคการท่องเที่ยว นำมาซึ่งรายได้ให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารในท้องถิ่นและจังหวัด
นางสาวสุดาวรรณ เผยอีกว่า.. “ อาหาร ” เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อน Soft power ของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ Thailand creative content agency (THACCA) กับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ในปี 2567 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงเดินหน้าจัดโครงการด้านอาหาร ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ด้วยการบูรณาการหน่วยงานภาคี อาทิ.. กรมการแพทย์แผนไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในระดับประเทศ ด้วยการให้แต่ละจังหวัดเฟ้นหารวบรวมเมนูอาหารถิ่นที่กำลังจะสูญหาย หาทานยาก มาสร้างสรรค์ พัฒนา ยกระดับให้เป็นอาหารยอดนิยม ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย รณรงค์ให้คนในพื้นที่เกิดความตระหนักภาคภูมิใจ และปลูกฝังค่านิยมการบริโภคนอาหารจากภูมิปัญญาพื้นบ้านแก่เยาวชนรุ่นใหม่ เป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้อาหารไทยถิ่น เป็น Soft power ที่มีศักยภาพหนุนการท่องเที่ยว สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ
ในส่วนแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า.. สวธ. โดยคณะกรรมการของแต่ละจังหวัดที่ตั้งขึ้น จะดำเนินการคัดเลือกเมนูอาหารท้องถิ่นของตนเอง ตามหลักเกณฑ์การคัดเลือก 6 ด้าน ประกอบด้วย
1. ด้านประวัติความเป็นมา/ ภูมิปัญญา/ ด้านวิธีการปรุง/ เคล็ดลับ
2. ด้านคุณค่าควรแก่การสืบสานและถ่ายทอด
3. ด้านวัตถุดิบท้องถิ่นที่สำคัญของอาหาร
4. ด้านการเผยแพร่และพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์
5. ด้านโภชนาการ
และ ๖. ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยจะคัดเลือกใน 3 เมนูหลัก ได้แก่.. “ อาหารคาว ” , “ อาหารหวาน ” และ “ อาหารว่าง ” ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นขั้นตอนการเปิดรับข้อมูลอาหาร การคัดเลือกเมนูอาหารถิ่นระดับจังหวัด หลังจากได้เมนูอาหารแล้ว แต่ละจังหวัดจะมีการเปิดให้ประชาชนในพื้นที่โหวตสุดยอดเมนูอาหารถิ่นของจังหวัด จากนั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำการประกาศเผยแพร่เมนูอาหารถิ่น ประจำปี 2567 ทั้ง 77 จังหวัด ภายในเดือน สิงหาคม 67 นี้ ต่อไป
โอกาสนี้ วธ. ขอเชิญชวนผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป มีส่วนร่วมค้นหาและเชิดชูอาหารของจังหวัดต่าง ๆ ที่หาทานยาก มีคุณค่าควรอนุรักษ์และต่อยอด ด้วยการส่งข้อมูลเมนูอาหารคาว อาหารหวาน และ อาหารว่าง เพื่อให้คัดเลือกเป็นเมนูอาหารถิ่นของจังหวัด ในส่วนภูมิภาคส่งได้ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ กรุงเทพมหานครส่งได้ที่ กลุ่มสนับสนุนกิจการพิเศษ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม โทร 02 247 0013 ต่อ 1414 และ 1419 และติดตามข่าวสารได้ทาง Facebook : อาหารไทยถิ่น Thailand Best Local Food ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น