110 ปี “ ป๊ากสามเสน ” วชิรพยาบาลแห่งทุ่งสามเสน ...

“ ป๊ากสามเสน ” อาคารหรูหราอลังการในยุคสมัยรัชการที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกปล่อยนิ่งสงบ ซ่อนตัวอยู่ภายในโรงพยาบาลวชิระพยาบาล กำลังจะถูกบูรณะเพื่อกลับเฉิดฉายอีกครั้ง 

23 มีนาคม 2565 : คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัด “ งาน 110 ปี วชิรพยาบาล แห่งทุ่งสามเสน และกิจกรรม Soft opening อาคารวชิรานุสรณ์ และวชิรปาร์ค ” โดยมี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดี และผู้บริหาร คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล แขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงาน 






ภายในงานมีการจัด การแสดงดนตรีไทย จากนักศึกษาชมรมดนตรีไทย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และการร้องเพลงในธีม “ ดนตรีในสวน ” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ธนันดา ตระการวนิช ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช พร้อมทีมบรรเลงดนตรี บทเพลงต่างๆ โดยนักร้องกิตติมศักดิ์ อาทิ รศ.พงษศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ รองอธิการบดี, ' คุณกบ ' เสาวนิตย์ นวพันธ์ นักร้องเสียงทรงพลัง และ ' คุณโน๊ต ' ศรันย์ คุ้งบรรพต ณ ลาน Vajira park คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล 









เปิดให้สื่อมวลชนและแขกผู้มีเกรียติได้เข้าชม “ ศาลาวชิรพยาบาล ” แบบ Soft opening อย่างไม่เป็นทางการกันแล้วสำหรับ “ ตึกเหลือง ” หรือ “ อาคารวชิรานุสรณ์ วชิรพยาบาล ” หรือชื่อที่รู้จักกันเมื่อกว่าร้อยปีก่อนว่า “ บ้านหิมพานต์ ” หรือ “ ป๊ากสามเสน ” คฤหาสน์หลังงามของ “ พระสรรพการหิรัญกิจ ” ซึ่งเป็นที่กล่าวขานในย่านสามเสนรวมถึงได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam ถึงความงดงามของกลุ่มอาคารและพื้นที่บริเวณนี้ว่า .. เป็นรองก็แค่พระบรมมหาราชวัง 


คฤหาสน์สีเหลือง สไตล์นีโอคลาสสิกหลังนี้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ตรงกับยุคที่นายช่างชาวอิตาลีเข้ามาสร้างอาคารประวัติศาสตร์ต่างๆ ในสยาม และหนึ่งในผลงานความผสมผสานระหว่างตึกอันโอ่อ่าสไตล์ยุโรปและลวดลายไทยอันวิจิตรก็คือคฤหาสน์ของพระสรรพการ ซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีการจัดสวนสวยงามอยู่ด้านหน้า ประกอบด้วยตึกใหญ่ 2 ตึก คือ ตึกพระสรรพการหิรัญกิจ และ ตึกคุณทรัพย์ เรียกชื่อตามชื่อเจ้าของบ้านและภรรยา อีกทั้งด้านข้างยังมีโรงละคร กรงเลี้ยงสัตว์  สระว่ายน้ำ มีถ้ำจำลอง มีเขาก่อด้วยหินเป็นเนินเขา รวมเวลาก่อสร้างเกือบ 4 ปีระหว่าง พ.ศ. 2448 – 2451 


บริเวณด้านหลังของบ้านยังได้สร้างเขาดินขนาดใหญ่เรียกว่า “ ป๊ากสามเสน ” ตามแบบสวนสาธารณะอย่างเมืองนอก แต่สำหรับ “ ป๊ากสามเสน ” จะเรียกว่าสวนสาธารณะก็ไม่เชิงนักเพราะมีการเก็บค่าเข้าชมเป็นรายครั้งและรายปีเหมือนเป็นคลับเฮาส์แหล่งพักผ่อนหย่อนใจของผู้ดีมีอันจะกินในพระนครมากกว่า เพราะบริเวณเขาดินมีทั้งโรงกาแฟ, โรงหมากพลูบุหรี่, พร้อมมีเก้าอี้สำหรับนั่งกลางสนาม, มีเรือสำหรับพายในคลองและในสระ, ทั้งยังมีที่พักทำด้วยศิลาล้อมรอบด้วยไม้หอม แถมยังมีกระโจมบนยอดเขาให้ความรู้สึกเหมือนกิจการรีสอร์ตในปัจจุบัน


พระสรรพการหิรัญกิจ ได้อันเชิญ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น เสด็จมาเปิดประตูบ้านหิมพานต์และป๊ากสามเสนเป็นฤกษ์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 รวบงบประมาณก่อสร้างราว 800,000 บาท เก็บค่าผ่านประตูคนละ 1 บาท หรือจะจ่ายแบบรายปีมีก็มีให้เลือกแบบเหรียญทองปีละ 200 บาท และเหรียญเงินปีละ 100 บาท โดยเพิ่มสิทธิ์พิเศษให้ผู้ติดตามสามารถเข้าได้ครั้งละ 2 คน ส่วนโรงละครนั้นก็ไม่ธรรมดาด้วยงานก่อสร้างแบบยุโรป มีการเก็บค่าเข้าชมตามลำดับชั้น ตั้งแต่ 1 บาท ถึง 60 บาท ส่วนมหรสพก็หลากหลาย ได้แก่ งิ้ว หนังฉาย เพลงฉ่อย ลิเกทรงเครื่อง เครื่องสาย ละครพูด ไปจนถึงการนำหนังจากยุโรปเข้ามาฉาย

เหตุที่มาของชื่อ “ บ้านหิมพานต์ ” ก็ด้วยบรรยากาศที่มีสวนขนาดใหญ่ มีต้นไม้นานาพันธุ์ มีเนินเขา มีถ้ำ มีสัตว์ต่างๆ มีบ่อน้ำ สระน้ำเหมือนจำลองความงดงามของป่าหิมพานต์ลงมาไว้กลางกรุง แต่ก็น่าเสียดายที่พื้นที่ ป๊ากสามเสนรวมทั้งตัวบ้านเปิดใช้งานได้ราว 2-3 ปีก็ปิดตัวลงด้วยเหตุพระสรรพการหิรัญกิจ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้จัดการ แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัดฝ่ายไทย ดำเนินกิจการผิดพลาดทำให้ต้องลาออกจากตำแหน่ง ถูกฟ้องล้มละลาย และต้องถูกถอดยศใน พ.ศ.2455 ทำให้ตัวบ้านรวมถึงที่ดินได้ถูกโอนกรรมสิทธิ์เป็นของแบงก์สยาม กัมมาจล ทุนจำกัด กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบริเวณบ้านพระสรรพการหิรัญกิจจากแบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด เพื่อจัดตั้งเป็นสถานพยาบาลในชื่อ “ วชิรพยาบาล ” และใช้ตัวคฤหาสน์เป็นที่ทำการโรงพยาบาล ปัจจุบัน “ ตึกเหลือง ” หรืออดีต “ บ้านหิมพานต์ ” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีการบูรณะซ่อมแซมและเตรียมเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม ส่วนอาคารประกอบอื่นๆ อย่างโรงละคร ตึกคุณทรัพย์ หรือเขาดิน ไม่มีหลงเหลืออยู่แล้ว แต่เฉพาะตึกเหลืองหลังเดียวก็บอกเลยว่าต้องใช้เวลาชมเป็นครึ่งวันเพราะมีห้องโถงต่างๆ มากถึง 37 โถง ไม่รวมลายดอกไม้ พฤกษาบนเพดานที่ไม่ซ้ำกันเลยสักห้อง 


อาคารสีเหลือง โดดเด่นในโรงพยาบาลวชิระ มีสถาปัตยกรรมยุโรปแบบนีโอคลาสสิก สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2451 ในสมัยรัชกาลที่ 5 อาคารนี้ เป็น บ้านพัก ของ พระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) ขุนนางคหบดีผู้มีรสนิยม รับราชการเป็น เลขานุการพระคลัง และ เคยเป็นผู้จัดการแบงก์สยามกัมมาจล (ธนาคารไทยพาณิชย์) อาคารสีเหลือง ๆ ที่เห็นนี้ เป็นอาคารสุดท้ายที่เหลือจากการขยายตัวของวชิรพยาบาล ในอดีตจะมีตึกชมพูอยู่คู่กัน สวนขนาดใหญ่มีต้นไม้นานาพรรณ ภูเขา บ่อน้ำจำลองต่างๆ ดูแปลกตา ในสมัยนั้นบริเวณอาณาเขตนี้ ถูกเรียกว่า “ บ้านหิมพานต์ ” หรือ “ ป๊ากสามเสน ”

เมื่อครั้ง “ ป๊ากสามเสน ” สร้างเสร็จใหม่ๆ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาพระราชทานพรในโอกาสขึ้นบ้านใหม่ของพระสรรพการหิรัญกิจ ได้เสด็จทอดพระเนตรห้องต่างๆบนตึก หลังจากนั้นทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงเจ้าดารารัศมี เล่าถึงบ้านนี้ ว่า “ ไปขึ้นบ้านใหม่พระสรรพการหิรัญกิจ พระที่นั่งอัมพรสถานเป็นอย่างไรที่บ้านนั้นก็เป็นแบบนั้นทุกอย่าง แต่ขนาดเล็กกว่า ” และเมื่อปี พ.ศ 2455 พระสรรพการหิรัญกิจ ถูกฟ้องล้มละลาย “ ป๊ากสามเสน ” จึงถูกเปลี่ยนแปลงจากพระราชกระแสของในหลวงรัชกาลที่ 6 ที่เห็นว่าควรใช้พื้นที่นี้เป็นสถานพยาบาล และ อาคารต่างๆเหล่านี้จึง ก็ถูกดัดแปลงมาใช้ในงานพยาบาล และ ใช้ชื่อว่า “ วชิรพยาบาล ” จนกระทั่งปัจจุบัน “ ป๊ากสามเสน ” กำลังจะกลับมามีชีวิตชีวาเฉิดฉายอีกครั้ง และ เปิดให้ประชาชนได้เข้าชื่นชมความงดงามของสถาปัตยกรรมของบ้านเมืองเราในอดีต ...

https://drive.google.com/drive/u/0/mobile/folders/1uncVw262ED_3-0LUpDwsNMwOCKkRP5FH

ขออนุญาตอัพเดทการเข้าชม > ตอนนี้สามารถเข้าชมส่วนของสวนและด้านนอกอาคารได้ ส่วนภายในอาคารกำลังติดตั้งส่วนพิพิธภัณฑ์ สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมเป็นหมู่คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ งานสื่อสารและส่งเสริมภาพลักษณ์ โทร. 02-244-3688 (ติดต่อเฉพาะวันและเวลาราชการ)


พิกัด : โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 681 ถนน สามเสน แขวง วชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 

https://goo.gl/maps/Zz1xcrqSLfh3DiBH7

#โรงพยาบาลวชิรพยาบาล  #ตึกเก่า ...

#vajira #วชิรพยาบาล ...

#อาคารวชิรานุสรณ์ #ตึกเหลือง ...

#วชิรปาร์ค #ทุ่งสามเสน ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

CP LAND ปรับแผนสื่อสารเจาะนิวเจน พบถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดชาร์ตอันดับ 2 จากผลสำรวจของ Zanroo ...

3 หน่วยงาน ขานรับนโยบาย กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) อย่างมีระบบ ...