รองนายกฯ ดอน ปรมัตถ์วินัย มอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ในงานวันนักประดิษฐ์ 2564 – 2565 ...
เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 : นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นประธานมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 – 2565 ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 – 2565 (Thailand Inventors’Day 2021 - 2022) จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. พร้อมด้วยผู้บริหาร ให้เกียรติเข้าร่วมในพิธี
พิธีมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่งของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นรางวัลที่มีความเก่าแก่และเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน โดยรางวัลการวิจัยแห่งชาติ แบ่งเป็น 4 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงการวิชาการและประเทศชาติ เป็นต้นแบบและสร้างแรงจูงใจให้นักประดิษฐ์และนักวิจัยรุ่นใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมทางความคิด และภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมทั้ง สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่าง ๆ
สำหรับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2564 มีจำนวน 152 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 7 รางวัล รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 42 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ 47 รางวัล รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 56 รางวัล และรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 157 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 10 รางวัล รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 49 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวน 43 รางวัล และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 55 รางวัล รวมรางวัลในปีนี้ ทั้งหมด 309 รางวัล ใน 12 สาขาวิชา ได้แก่ 1) สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ 2) สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ 3) สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช 4) สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา 5) สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย 6) สาขาปรัชญา 7) สาขานิติศาสตร์ 8) สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ 9) สาขาเศรษฐศาสตร์ 10) สาขาสังคมวิทยา 11) สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ และ 12) สาขาการศึกษา
รางวัลนักวิจัยดีเด่น ประจำปี 2564 จำนวน 7 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วิปร วิประกษิต (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์) , ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย มาลีวงษ์ (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์) , ศาสตราจารย์ ดร.เกศรา ณ บางช้าง (สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช) , รองศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา) , ศาสตราจารย์ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน (สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย) , ศาสตราจารย์ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ (สาขาปรัชญา) และ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ (สาขาปรัชญา)
รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 จำนวน 10 ท่าน ได้แก่ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ (สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์) , รศ.ดร.วธนน์ วิริยสิทธาวัฒน์ (สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์) , รองศาสตราจารย์ไตรรัตน์ จารุทัศน์ (สาขาปรัชญา), ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ (สาขานิติศาสตร์) , ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ (สาขานิติศาสตร์), ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ (สาขาเศรษฐศาสตร์) , ศาสตราจารย์ ดร. อรัญ อินเจริญศักดิ์ (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา), ศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา) , ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (สาขาการศึกษา) และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล (สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์) ทั้งนี้ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ วช.จะดำเนินการขอพระราชทานพระราชวโรกาส เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรับพระราชทานรางวัลต่อไป
รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีเด่น ประจำปี 2564 ได้แก่ ผลงานโรคไวรัสจากการค้นพบสู่องค์ความรู้เพื่อการป้องกันและควบคุมโรคอย่างยั่งยืน รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีเด่น ได้แก่ การใช้เนื้อเยื่อกระเพาะอาหารเพื่อสร้างเซลล์ผลิตอินซูลินสาหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผลงานความสัมพันธ์ระหว่างโรคทางพันธุกรรมกับโครงสร้างและปฏิสัมพันธ์ของโปรตีน และรางวัลผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานนวัตกรรมการเรียนรู้ Drone Swarm Software: การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์โดรนแปรอักษร
รางวัลผลงานวิจัย ระดับดีเด่น ประจำปี 2565 ได้แก่ ผลงาน Microbial source tracking: เทคโนโลยีเพื่อการติดตามแหล่งปนเปื้อนจากน้ำเสีย สู่การบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานผลของการออกกำลังกายตามความต้องการและการปรับการทำงานของระบบโมโนเอมีนในการป้องกันระบบประสาทของหนูเพศผู้ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความเครียด และผลงานมหาปราติหารยสูตรในคัมภีร์ต้นฉบับจากกิลกิต : ฉบับชำระเชิงวิพากษ์ การแปลและการวิเคราะห์ตัวบท และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก ได้แก่ ผลงานหอมข้าว : อุปกรณ์ตรวจสอบความหอมในข้าวหอมมะลิแบบพกพาด้วยเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น