ม.เกษตรฯ ร่วมกับ ไบโอเทค-สวทช. และ วช. ร่วมกับเครือข่าย Hub of Rice จัดประชุมนานาชาติ ICRF2024 เรื่องข้าวเพื่ออนาคต ย้ำบทบาทสำคัญงานวิจัยข้าว เพื่อความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน ...
ที่ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี / เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย (Hub of Rice) โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการวิจัยข้าวของประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 3 เรื่องข้าวเพื่ออนาคต (3rd International Conference on Rice for The Future 2024 : ICRF 2024) กำหนดจัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 14 - 15 พฤศจิกายน 2567 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยข้าว ขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนและสร้างการประกันความมั่นคงทางอาหารในอนาคต รวมถึงเป็นเวทีสร้างเครือข่ายนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการข้าวทั้งในและต่างประเทศ โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะทำงานที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ศ.ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล ม.เกษตรศาสตร์ ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. และ รศ.ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ร่วมเปิดงาน และมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน จาก 14 ประเทศ
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะทำงานที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และ ศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of Knowledge) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า.. การประชุมครั้งนี้เป็นโครงการริเริ่มสำคัญที่กำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งเครือข่ายนักวิจัยที่ทำงานในพื้นที่สำคัญต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงผลผลิตข้าว เพิ่มความต้านทานโรค และจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความพยายามเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลกของการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยงานนี้จะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยข้าวและใช้การวิจัยและนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศไปเดินหน้าต่อไป
รศ.ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า.. ICRF2024 เป็นงานที่นำเสนอข้อมูลงานวิจัยด้านข้าวในทุกมิติ โดยมีวิทยากรทั้งในและต่างประเทศให้การบรรยาย มากถึง 14 คน และยังมีการนำเสนอแบบปากเปล่า 45 เรื่อง และนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์ 84 เรื่อง แบ่งเป็น 7 หัวข้อหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแปรรูปใหม่และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การแพทย์และเภสัชกรรม ความเครียดทางชีวภาพ ความเครียดจากสิ่งแวดล้อม จีโนมิกส์ของข้าว/เทคโนโลยีโอมิกส์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และเทคโนโลยีเกษตรขั้นสูง ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับแนวทางใหม่ ๆ ในการจัดการกับความท้าทายและพัฒนาอนาคตของอุตสาหกรรมข้าว รวมถึงเป็นเวทีนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับข้าวในระดับนานาชาติ รวมถึงในงานยังมีนิทรรศการด้านข้าวและนวัตกรรมด้านข้าวต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เห็นภาพและแนวทางสร้างพันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพอากาศ และมีโภชนาการสูงมากขึ้น รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://events.thailandricehub.org/icrf/
ศ.ดร.ดอกรัก มารอด รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและความเป็นสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า.. ICRF 2024 เป็นงานที่รวมบุคคลสำคัญจากทั่วโลกที่มารวมตัวกัน เพื่อแบ่งปันความรู้และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพืชผลที่สำคัญที่สุดนั่นคือ “ ข้าว ” ปัจจุบันการวิจัยข้าวมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความท้าทายที่เราเผชิญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำ และความต้องการผลผลิตที่สูงขึ้นโดยใช้ทรัพยากรน้อยลง โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาข้าวอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ มีการบุกเบิกพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่มีความสามารถในการปรับตัว มีคุณค่าทางโภชนาการ และยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งได้บูรณาการเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น จีโนมิกส์ เกษตรแม่นยำ และเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวเพื่อเพิ่มรายได้ของเกษตรกรและขยายการใช้งานทางอุตสาหกรรม โดยพื้นฐานแล้ว เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของเกษตรกรและรับประกันความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนรุ่นอนาคต
ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร สวทช. กล่าวว่า.. ไบโอเทค สวทช. มีความมุ่งมั่นที่จะบุกเบิกความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพโดยเฉพาะเพื่อเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การวิจัยข้าวนับเป็นจุดสนใจที่สำคัญในความพยายามทางการเกษตรของไบโอเทค โดยการวิจัยข้าวได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลจีโนมเพื่อตรวจสอบลักษณะที่สำคัญสำหรับข้าว และพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยความร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สถาบันวิจัย และกรมการข้าว ทำให้สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรไทย
ทั้งนี้ วิทยากรระดับนานาชาติที่สำคัญมีด้วยกันหลายท่าน อาทิ.. Reiner Wassmann จาก International Rice Research Institute (IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์ บรรยายเรื่อง Greenhouse Gas Emissions from Rice Production: Significance, mitigation options and the emerging carbon markets (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตข้าว : ความสำคัญ การลดผลกระทบ และการเกิดขึ้นของตลาดคาร์บอน) ระบุว่า การผลิตข้าวเป็นแหล่งสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) โดยเฉพาะก๊าซมีเทน ซึ่งโดยเฉลี่ยคิดเป็นประมาณ 1.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก ในบางประเทศอาจมีสัดส่วนที่สูงกว่านั้น ทำให้การปลูกข้าวถูกตั้งเป็นเป้าหมายสำหรับการลดก๊าซเรือนกระจก แม้กระทั่งในระดับนโยบายอย่างความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร โดยเฉพาะการลดใช้น้ำ ที่เปลี่ยนวิธีการจัดการน้ำในแปลงนาจากการท่วมขังต่อเนื่องแบบปกติให้มาเป็นระบบเปียกสลับแห้ง ส่งผลให้ลดปลดปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 50% และเป็นวิธีที่ได้รับความสนใจอย่างมากในด้านการสร้างคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนหลายรายเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรองด้านคาร์บอนเครดิตในการผลิตข้าว แต่ด้วยลักษณะของระบบเกษตรกรรมที่ส่วนมากเป็นเกษตรกรรายย่อย ทำให้การดำเนินงานประสบกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งในเชิงปฏิบัติการ ด้านการเงิน และด้านกฎหมาย ทั้งนี้กระบวนการต่าง ๆ ยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจนำไปสู่การนำวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกมาใช้อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น
Nese Sreenivasulu จาก International Rice Research Institute (IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์ บรรยายเรื่อง Low glycemic index and High protein rice to transform food and Nutritional security in Asia (ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำและโปรตีนสูง เพื่อการเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงทางโภชนาการในเอเชีย) ระบุว่า.. งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นด้านการพัฒนาข้าวเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งทีมวิจัยได้พัฒนาข้าวสายพันธุ์ HAHP101 จากการผสมระหว่างข้าว Samba Mahsuri และ IR36 amylose extender โดยมุ่งเป้าไปที่การผลิตข้าวที่มีดัชนีน้ำตาล (GI) ต่ำถึงต่ำมากและมีโปรตีน (PC) สูง โดยผลจากการวิเคราะห์ทางพันธุศาสตร์และเมแทบอลิซึมพบความสำคัญของยีน OsSBEIIb และยีนประกอบอื่น ๆ บนโครโมโซมที่ 2 ที่เชื่อมโยงกับลักษณะ GI ต่ำและ PC สูง (14-16%) ซึ่งได้รับการยืนยันด้วยวิธีปรับแต่งพันธุกรรมที่บริเวณยีนดังกล่าว
และ Julie Gray จาก School of Biosciences, University of Sheffield, UK บรรยายเรื่อง Water-saving Rice (ข้าวใช้น้ำน้อย) ระบุว่า.. พืชต่าง ๆ สามารถสูญเสียน้ำผ่านทางปากใบ โดยพืชสามารถปรับขนาดของปากใบ รวมไปถึงระดับการพัฒนาได้ตามธรรมชาติเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมได้ จากข้อมูลดังกล่าวทางทีมวิจัยสามารถพัฒนาพันธุ์พืชที่มีความหนาแน่นของปากใบมากและน้อยกว่าปกติได้ โดยการปรับระดับของเป็ปไทด์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบเซลล์ผิวใบ ทั้งนี้ พืชที่มีความหนาแน่นของปากใบต่ำจะมีอัตราการสูญเสียน้ำที่ต่ำลง ส่งผลให้ทนแล้งดียิ่งขึ้น เช่น ข้าวที่มีจำนวนปากใบเป็นครึ่งหนึ่งจากปกติจะใช้น้ำเพียง 60% ของปริมาณน้ำตามปกติ ทำให้สามารถอยู่รอดในช่วงภัยแล้งได้ดีและยังคงปริมาณผลผลิตไว้ได้ อีกทั้งพืชลักษณะดังกล่าวยังคงสภาพได้ดีในสภาวะดินเค็ม เนื่องจากเกิดการสะสมของเกลือน้อย ดังนั้นพืชที่มีลักษณะความหนาแน่นปากใบน้อยสามารถรักษาระดับผลผลิตในสภาพที่เครียดได้ ซึ่งอาจช่วยแก้ไขผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารได้ ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น