วช. แถลงข่าว Genius Lunch ภูมิปัญญาอาหารกลางวันจากวัตถุดิบชุมชนสร้างคนอัจฉริยะ ...
ที่ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วช. อาคาร 8 / เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานแถลงข่าวประชาสัมพันธ์และขยายผลโครงการภูมิปัญญาอาหารกลางวันจากวัตถุดิบชุมชนสร้างคนอัจฉริยะ (Genius Lunch) เพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยภายใต้โครงการวางระบบการผลิตอาหารปลอดภัยในระดับตำบลสู่อาหารคุณภาพในโรงเรียนที่มีเป้าหมาย และส่งเสริมการพัฒนาอาหารกลางวันที่มีคุณภาพสำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอนาคตที่ดีและสุขภาพที่แข็งแรงแก่เยาวชนไทย โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี นายอารยะ โรจนวณิชชากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหาร และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานแถลงข่าว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง กล่าวว่า.. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนการดำเนินงานโครงการ Genius Lunch ซึ่งเป็นกลไกที่ออกแบบเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ได้แก่ SDG 2: ขจัดความหิวโหย, SDG 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี, SDG 4: การศึกษาที่มีคุณภาพ, และ SDG 10: การลดความเหลื่อมล้ำ โดยโครงการนี้ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ในการสร้างต้นแบบระบบการจัดการอาหารกลางวันที่ระดับตำบล โดยได้รับการสนับสนุนด้านวัตถุดิบและแรงงานจากชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชนในการบริโภคอาหารที่ดีและยั่งยืน
นอกจากนี้ ภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการโครงการ “ การวางระบบการผลิตอาหารปลอดภัยในระดับตำบลสู่อาหารคุณภาพในโรงเรียน ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ” โดย ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้ร่วมการเสวนาในหัวข้อ “ เด็กอัจฉริยะสร้างได้ด้วยความยั่งยืนทางด้านอาหาร ” โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและสุขภาวะ ได้แก่.. นายเพ็ชร ประภากิตติกุล ผู้อำนวยการโครงการ Sustainism, นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ, พญ.ณภัคจิรา ลิขสิทธิ์ธนานนท์ กุมารแพทย์ และ นางสาวชลกานต์ วิสุทธิพิทักษ์กุล ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ
โครงการ Genius Lunch มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคมและเยาวชนไทยในหลายมิติ ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาวะที่ดีผ่านโภชนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กนักเรียน ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรง มีพัฒนาการทางกายและจิตใจที่ดี พร้อมสำหรับการศึกษาและการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ โครงการยังสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นในการผลิตอาหารกลางวัน ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เกิดการจ้างงานและหมุนเวียนรายได้ในระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังสร้างระบบการเรียนรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่ยั่งยืนและการจัดการทรัพยากรอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนไทยได้รับการปลูกฝังความรู้และจิตสำนึกด้านการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น