อพท. เดินหน้าร่วมขับเคลื่อนสุพรรณบุรีเมืองสร้างสรรค์ดนตรีของยูเนสโกแห่งแรกของไทย : ชูต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ...
อพท. เดินหน้าร่วมขับเคลื่อนสุพรรณบุรีเมืองสร้างสรรค์ดนตรีขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) แห่งแรกของไทย ร่วมกับภาคีเครือข่าย จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมชูความโดดเด่นจากผลงานการพัฒนาต้นแบบเมืองโบราณอู่ทองจนได้รับรางวัล TOP100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลกปี 2024
นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า.. อพท. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายสรวงษ์ เทียนทอง) ทำหน้าที่หลักในประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการบริหารจัดการการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และ อพท. ได้เข้ามาดำเนินการในจังหวัดสุพรรณบุรี ตามมติคณะรัฐมนตรี ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง ในปี พ.ศ. 2555 และดำเนินการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางการพัฒนาตามมาตรฐานสากลมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) การขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี และหน่วยงานภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วน จนทำให้องค์การยูเนสโกประกาศให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ในปี 2566 รวมไปถึงการพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Thailand) อีกด้วย
** เดินหน้าร่วมขับเคลื่อนสุพรรณบุรีเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของยูเนสโก
ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า.. จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UCCN ด้านดนตรี เนื่องด้วยจังหวัดสุพรรณบุรีมีความโดดเด่นของรากฐานวัฒนธรรมด้านดนตรีที่เข้มแข็งและกลมกลืนกับวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นมายาวนาน จุดเด่นคือการมีบุคลากรด้านดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ทั้งดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีไทย เพลงลูกทุ่ง เพลงเพื่อชีวิต และดนตรีสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่า“เบญจภาคีดนตรีสุพรรณ” และภายหลังความสำเร็จดังกล่าว อพท. ได้ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี หน่วยงานและภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนเมืองสุพรรณบุรีให้เต็มไปด้วยบรรยากาศของความเมืองดนตรี โดยมีความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและระดับสากล อาทิ การจัดเตรียมพื้นที่สร้างสรรค์บริเวณพุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี สร้าง Landmark โดยจะพัฒนาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เปิดให้กับนักเรียน นักดนตรีที่สนใจ การพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเชิญเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ได้แก่ เมืองอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย และเมืองอิโป ประเทศมาเลเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและลงพื้นที่เส้นทางบ้านดนตรีสุพรรณบุรี รวมทั้ง ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนทางด้านดนตรี อาทิ การจัดการแข่งขัน Suphanburi Youth Music Stage เพื่อส่งเสริมศักยภาพของศิลปิน และนักดนตรีในจังหวัดสุพรรณบุรี การส่งเสริมงานดนตรี Suphantival เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี บริเวณเขากำแพง อำเภออู่ทอง ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และกระจายรายได้ให้กับประชาชนและชุมชนในพื้นที่ การจัดงาน Suphan Soul โดยจัดทำสารคดีเพลงพื้นบ้านและมหกรรมดนตรี ศิลปะ งานสร้างสรรค์ โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่สุพรรณบุรี อีกด้วย
** ก้าวต่อไปของสุพรรณบุรี เมืองดนตรีแห่งแรกของไทย
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวถึง.. แผนการดำเนินงานในปี 2568 ที่จะร่วมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์สุพรรณบุรี โดย อพท. ได้ร่วมกับ จังหวัดสุพรรณบุรีในการเตรียมความพร้อมและสนับสนุนการสร้างสรรค์สุพรรณบุรีสู่เมืองดนตรีระดับโลก โดยเตรียมทั้งในส่วนของศิลปิน โดยการจัดการอบรมและส่งเสริมศักยภาพของศิลปินสุพรรณบุรี ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ในบริเวณพุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนและนักดนตรีร่วมแสดงความสามารถ และในระดับนานาชาติ จังหวัดสุพรรณบุรีเตรียมความพร้อมการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมดนตรีนานาชาติ “ เมืองเหน่อ เฟสติวัล ” และ กิจกรรมเทศกาลดนตรีสุพรรณบุรี วิถีใหม่ “ Suphanburi World Music ” เพื่อตอกย้ำและสนับสนุนเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีขององค์การยูเนสโก ซึ่งเป็นไปตาม Roadmap 5 ปี ที่จะขับเคลื่อนเป้าหมาย “ สุพรรณบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ” อีกด้วย
** เมืองโบราณอู่ทอง สุพรรณบุรี ขึ้นแท่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก 2024 และ Landmark เมืองน่าเที่ยว แห่งใหม่ของไทย
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวด้วยความภูมิใจ ว่า.. ในปี 2567 นี้ พี่น้องชาวจังหวัดสุพรรณบุรีและประเทศไทยเพิ่งได้รับข่าวดี เมื่อ Green Destinations ได้ประกาศรายชื่อแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top 100 Stories 2024 โดยมี 4 แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษที่ อพท. พัฒนาตามแนวทางเกณฑ์ GSTC จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ซึ่งรวมถึงเมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี นำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีในประเภทการจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management) เสนอประเด็น “ การฟื้นฟูแหล่งเสื่อมโทรมเมืองโบราณอู่ทอง ด้วยพลังศรัทธาภาคประชาสังคม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ” เนื่องจากในอดีตเมืองโบราณอู่ทอง อาจไม่เป็นที่รู้จักในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวมากนัก แต่พื้นที่แห่งนี้ มีความสำคัญทางพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์สมัยทวารวดีที่ยิ่งใหญ่ในยุค 2,000 ปี เป็นที่มาถึงความจำเป็นของการสร้างการรับรู้เมืองโบราณอู่ทองออกไปยังภายนอก อพท. จึงดำเนินการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง โดยการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความสมดุลและส่งเสริมการท่องเที่ยว ร่วมผลักดันพื้นที่บริเวณพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ (พุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี) ให้มีองค์ประกอบในการเชื่อมโยงพื้นที่อย่างสมบูรณ์และสร้างอัตลักษณ์ ภายหลังจากการดำเนินการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่พุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 และการก่อสร้างก่อสร้างเส้นทางพุทธธรรม หรือสะพานทางเดินศึกษาธรรมชาติเมืองโบราณอู่ทอง (Sky walk) จนถึงปัจจุบันส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจำนวนมาก จากผลของการพัฒนาให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง (Landmark) แห่งใหม่ของประเทศไทย และ " พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ " หรือ หลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาขนาดใหญ่ กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวสุพรรณบุรี มีผู้ศรัทธาหลั่งไหลเข้ามาเคารพสักการะไม่ขาดสาย และ “สกายวอล์ค” ทางเดินกระจกที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีระดับความสูงขนาดตึก 10 ชั้น สามารถมองเห็นทิวทัศน์อันสวยงามของเมืองโบราณอู่ทองได้แบบพาโนรามา ยังสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยว อีกด้วย
** ยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ ตอบโจทย์การสร้างและกระจายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น
นอกจากการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแล้ว อพท. ยังได้พัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์ ที่ผ่านมาตรฐาน CBT Thailand สู่ตลาดมูลค่าสูง สามารถให้บริการแก่นักท่องเที่ยวเที่ยวและสร้างและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น อาทิ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเมืองโบราณทวารวดีอู่ทอง ที่ได้รับการพัฒนาเป็นชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาดมูลค่าสูง และเป็นชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อคนทั้งมวล รวมทั้งผ่านมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนอาเซียน วิสาหกิจชุมชนตำลึงหวาน ที่นำเสนอกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลายจนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมตาลต้านตึง เป็นการนำภูมิปัญญาของคนในชุมชนมาพัฒนาเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาร่วม ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการปวดและเมื่อยล้า และชุมชนยังมีความโดดเด่นในเรื่องอาหารอีกด้วย วิสาหกิจชุมชนต้นแจงพัฒนา เป็นชุมชนที่ทำกิจกรรม “ยาดมทวารวดีอู่ทอง“ หรือที่ทุกคนรู้จักในนาม ”ยาดมหัวโตป้าต้อย“ เป็นการเรียนรู้การทำยาดมสมุนไพร ลงมือทำและระบายสีตุ๊กตาพร้อมนำกลับบ้านด้วยฝีมือของเราเอง อีกทั้งป้าต้อย นางเครือวัลย์ คล้ายจินดา ยังเป็น Brand Ambassador ของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของ อพท. อีกด้วย รวมถึง วิสาหกิจชุมชนบ้านตำนานดิน เป็นชุมชนที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ทั้งกิจกรรมสุมยา ที่นำเอาสมุนไพรมาบำบัด บรรเทาอาการหวัดคัดจมูก ลดอาการอักเสบใต้โพรงจมูก คลายเครียดลดอาการวิตกกังวลทำให้นอนหลับสบาย และกิจกรรมสปาเท้า เป็นการนำสมุนไพรมาบำบัด บรรเทาอาการอักเสบของข้อเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ ช่วยคลายปวดเมื่อย ทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น ซึ่งชุมชนเหล่านี้สามารถบริหารจัดการและให้บริการนักท่องเที่ยว จนนำมาสู่การสร้างและกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เป็นไปตามเป้าหมายในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. อย่างแท้จริง ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น