มจพ. เปิดศูนย์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ เผยมี 5 หลักสูตร พร้อมผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ด้านเซมิคอนดักเตอร์และแผ่นวงจรพิมพ์ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอนาคตไทยสู่ตลาดโลก ...
ที่ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มจพ. / เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2568 ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมคณะผู้บริหาร มจพ. ให้การต้อนรับ นางสาวศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เกียรติเป็นประธานเปิดศูนย์พัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ และ สมาคมการค้าอุตสาหกรรมไทยเซมิคอนดักเตอร์ โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว., ศ.ดร.ธานินทร์ ศิลป์จารุ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.), รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), รศ.ดร.ภาวนวีย์ โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (มทม.), นายวิรัตน์ ศรีอมรกิจกุล นายกสมาคมการค้าอุตสาหกรรมไทยเซมิคอนดักเตอร์ (THSIA) ร่วมกันแถลงข่าว
จากนั้น ได้ร่วมกันเปิดศูนย์ National Semiconductor Training Centers และ การเปิดสมาคมการค้าอุตสาหกรรมไทยเซมิคอนดักเตอร์ (THSIA) ร่วมกับนายวิรัตน์ ศรีอมรกิจกุล นายกสมาคมฯ ณ อุทยานเทคโนโลยี มจพ. พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการผลิตบรรจุภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ศูนย์ความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่และระบบอัตโนมัติ ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ.
น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า.. อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก และเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างแท้จริง ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Growth Engine เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศในบริบทที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ไทยจึงต้องเร่งสร้าง “ กำลังคนสมรรถนะสูง ” ให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของบริษัทภายในประเทศ รวมถึงเพื่อรองรับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มเติมในอนาคต
กระทรวง อว. ได้กำหนดแผนอย่างเป็นระบบ ภายใต้กรอบนโยบาย “ อว. for Semiconductor ” ตั้งเป้าหมายพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง จำนวน 80,000 คน ภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2569–2573) มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานชั้นนำระดับโลก และขับเคลื่อนโปรแกรมการผลิตและพัฒนากำลังคนในหลากหลายรูปแบบ อาทิ โครงการ Semiconductor Bootcamp เพื่อเตรียมนักศึกษาชั้นปี 3-4 เข้าสู่อุตสาหกรรมจริง การพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางด้านวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หลักสูตรระยะสั้นเพื่อ Upskill/Reskill โปรแกรม Train the trainer เพื่อพัฒนาอาจารย์และนักวิจัย ตลอดจนทุนปริญญาเอกแบบมุ่งเป้าด้าน IC Design โดยเฉพาะการจัดตั้ง National Semiconductor Training Centers ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนากำลังคน และการสร้างความร่วมมือเชิงลึกร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้หากการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้ ไทยจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก นำไปสู่การยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ รมว.กล่าว
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า.. กระทรวง อว. ได้ผลักดันการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงอย่างเป็นระบบ มีการจัดทำแผนการพัฒนากำลังคนและขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเข้มข้น พร้อมริเริ่มจัดตั้ง National Semiconductor Training Centers ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานแกนกลาง ในการประสานงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และเครือข่ายระดับโลก กำหนดทิศทาง และสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตร การฝึกอบรม และการวิจัย โดยในระยะแรก อว. ได้คัดเลือกสถาบันที่มีศักยภาพและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน จำนวน 3 แห่ง เพื่อให้การพัฒนากำลังคนครอบคลุมตลอด Value Chain ประกอบด้วย 1.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งจะมุ่งเน้นการอบรมในด้าน IC Testing และการขับเคลื่อนเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินการหลักสูตร Sandbox วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มุ่งเน้นการอบรมในด้าน IC Packaging และการสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ 3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มุ่งเน้นการอบรมในด้าน IC and PCB Layout Design และ การสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับสถาบันต่างประเทศ
" ในปี 2568 นี้ ตั้งเป้าพัฒนากำลังคนอย่างน้อย 1,200 คน พร้อมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการและสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มากกว่า 10 แห่ง ทั้งนี้ อว. ขอย้ำถึงความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน National Semiconductor Training Centers ให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนอย่างเป็นระบบ โดยยึดหลักความร่วมมือแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน และจะสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทย ให้สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน " ปลัดกระทรวง อว. กล่าว
ศ.ดร.ธานินทร์ กล่าวว่า.. มจพ. ให้ความสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 มจพ. ได้มีความร่วมมือกับบริษัท ยูแทคไทย จำกัด จัดทำหลักสูตรด้านเซมิคอนดักเตอร์ เตรียมความพร้อมของคณาจารย์และห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง ต่อมาปี พ.ศ. 2553 ได้บรรจุรายวิชาด้านการประกอบอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ หรือ IC Assembly ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาฟิสิกส์อุตสาหกรรม และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาฟิสิกส์วิศวกรรม โดย มจพ. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีห้องปฏิบัติการประกอบอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ภายในมหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนเครื่องมือและอปุกรณ์จาก บริษัท ยูแทคไทย จำกัด นอกจากนี้ มจพ. ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ปี 2558 ได้บรรจุรายวิชาด้านเทคโนโลยีแผ่นวงจรพิมพ์ ในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์อุตสาหกรรม ปีการศึกษา 2561 มจพ. ได้รับการอนุมัติโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จากกระทรวง อว. ให้จัดตั้งหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของ มจพ. ในการพัฒนาหลักสูตรด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล และ อว. For semiconductor เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ด้านเซมิคอนดักเตอร์และแผ่นวงจรพิมพ์ มจพ. ได้เปิดหลักสูตรครอบคลุมห่วงโซ่อุตสาหกรรม ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่..
1. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมการออกแบบไมโครอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์
2. หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์
3. หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ แขนงฟิสิกส์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแผ่นวงจรพิมพ์
4.หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีแผ่นวงจรพิมพ์
5.หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาระบบสมองกลฝังตัวและการออกแบบอิเล็กทรอนิกส์
อธิการบดี มจพ. กล่าวต่ออีกว่า.. ความพร้อมในด้านองค์ความรู้ บุคลากร ห้องปฏิบัติการ และระบบนิเวศด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ของ มจพ. กระทรวง อว. จึงให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็น 1 ใน 3 ศูนย์พัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงให้ทันต่อความต้องการของอุตสาหกรรม โดยในปีงบประมาณ 2568 มจพ. มีเป้าหมายในการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ประมาณ 600-700 คน ทั้งในรูปแบบ Degree และ Non-degree ขยายการผลิตกำลังคนให้ได้ 1,000-1,200 คน ในปีงบประมาณถัดไป เพื่อให้ทันต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ด้านเซมิคอนดักเตอร์และแผ่นวงจรพิมพ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น