นศ.รปศ. ม.วลัยลักษณ์ สุดเจ๋ง ผุดไอเดีย “ กระจูดหนุนดวง ” คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2567 ของออมสิน ภาค 17 ...
นักศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผุดไอเดีย “ กระจูดหนุนดวง ” ร่วมกับกลุ่มกระจูดราตรี อำเภอชะอวด เพิ่มมูลค่ากระเป๋ากระจูด ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองที่มีตำนานในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความขลังของวัตถุมงคล
นักศึกษา หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กลุ่ม Life of hope ภายใต้การนำของ อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อาภาภรณ์ สุขหอม อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ กลุ่มกระจูดราตรี อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมี คุณราตรี นาคสุทธิ์ เป็นประธานกลุ่ม ได้ร่วมกันพัฒนาผลงาน ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2567 โดยเริ่มต้นจากการที่กลุ่มกระจูดราตรี อยากพัฒนาผลิตภัณฑ์กระเป๋ากระจูดในรูปแบบใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ตลาดหลากหลายกลุ่ม กลุ่ม Life of hope จึงได้เสนอว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเมืองที่มีตำนานของวัตถุมงคลมากมาย และมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางมากสักการะและบูชาวัตถุมงคลจำนวนมาก น่าจะนำมาเป็นส่วนประกอบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยคงความเป็นกระเป๋ากระจูดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำความเชื่อในเรื่องเหรียญหนุนดวง เข้ามาใส่กับกระเป๋ากระจูด ให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของความเป็นเมืองที่มีตำนานในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความขลังของวัตถุมงคลต่าง ๆ
เหรียญหนุนดวง ถือเป็นวัตถุมงคลที่มีความสำคัญและได้รับความนิยมอย่างสูง สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของนครศรีธรรมราช โดยใช้ยันต์และตำรับพุทธคุณ ซึ่งเป็นดวงตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าและเทวดารักษาพระบรมธาตุผนวกกับวิชาตั้งบ้านตั้งเมืองลังกา ลงมาอยู่ในเหรียญเพื่อเสริมดวงชะตาของผู้ใช้ และถูกปลุกเสกโดยเกจิอาจารย์ผู้ที่มีชื่อเสียง เพื่อให้ผู้บูชามีโชคลาภ ความสำเร็จ ทำให้เหรียญหนุนดวงกลายเป็นหนึ่งในวัตถุมงคลที่มีผู้ศรัทธาในการปกป้องคุ้มครองและเสริมดวงชะตา
ทีม Light of hope ได้ดำเนินการนำเหรียญหนุนดวงที่ได้รับการปลุกเสกจากเกจิอาจารย์ชื่อดังของภาคใต้ มาทำการออกแบบเพื่อติดลงบนกระป๋ากระจูด เน้นให้ดูมีความสวยงาม ทันสมัย ใช้ได้กับทุกวัย และทุกสาขาอาชีพ รวมทั้งต้องมีความคงทน และต้องมองเห็นเหรียญหนุนดวงอย่างชัดเจน มีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ และงานแสดงสินค้า
การพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ กระจูดหนุนดวง ” ให้แก่.. กลุ่มกระจูดราตรี ได้ก่อเกิดประโยชน์มากมายแก่ชุมชน ตั้งแต่กลุ่มต้นน้ำคือ ชาวบ้านที่มีอาชีพเก็บต้นกก ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น กลุ่มกลางน้ำคือ ชาวบ้านผู้ผลิตกระจูดจากต้นกก และ สมาชิกกลุ่มกระจูดราตรี ที่จะมีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มปลายน้ำคือ ผู้ใช้กระเป๋ากระจูดหนุนดวง ที่มีความเชื่อและความศรัทธาต่อเหรียญหนุนดวง จะช่วยให้ผู้ใช้มีพลังใจที่เข้มแข็ง และยังเป็นการช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ก่อเกิดรายได้แก่ชุมชน และคงไว้ซึ่งตำนานของวัตถุมงคลของจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นตำนานที่ยังคงมีลมหายใจ และก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อีกด้วย ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น