วธ. จัดงาน วันศิลปินแห่งชาติ เชิดชูเกียรติ เผยแพร่ประวัติและผลงานอันทรงคุณค่า ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ...
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดงาน วันศิลปินแห่งชาติ ครบรอบ 4 ทศวรรษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะ “ องค์วิศิษฏศิลปิน ” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ และทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา ตลอดจนเชิดชูเกียรติ เผยแพร่ประวัติและผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2566
ที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม / เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีงาน " วันศิลปินแห่งชาติ " โดยมี นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม, นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม), นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม, คณะศิลปินแห่งชาติ คณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงวัฒนธรรม และ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประธานสภาวัฒนธรรมเขตกรุงเทพมหานคร แขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน และ คณะบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานพิธีดังกล่าว
สำหรับงานวันศิลปินแห่งชาติครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้การดำเนินงานโครงการสร้างรายได้แก่ศิลปิน นักแสดงพื้นบ้าน ชุมชน เจ้าของมรดกภูมิปัญญา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ผู้ทรงเป็นพระปฐมบรมศิลปินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพในวันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อให้ประชาชนเกิดการรับรู้และให้ความสำคัญกับวันศิลปินแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี และเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะ “ องค์วิศิษฏศิลปิน ” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ และทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา นอกจากนั้น ยังเป็นการเผยแพร่ประวัติ ผลงาน และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (cultural wisdom) ของศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 จำนวน 12 ท่าน และเผยแพร่องค์ความรู้ในวาระครบรอบ 4 ทศวรรษ ของการสรรหาและยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติแก่สาธารณชนในวงกว้าง อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ศิลปินแห่งชาติได้มีขวัญกำลังใจ และความภูมิใจในการสร้างสรรค์ผลงานอันล้ำค่า พัฒนางานศิลปะให้ตกทอดเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมแก่ลูกหลานสืบไป
ภายในงาน " วันศิลปินแห่งชาติ " ครั้งนี้ มีกิจกรรมการดำเนินงาน จำนวน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่..
1. พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ เพื่อแสดงความกตัญญูและระลึกถึงศิลปินผู้ล่วงลับที่มีคุณูปการต่อประเทศชาติ
2. พิธีเปิดนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 จำนวน 12 ท่าน ในฐานะศิลปินแห่งชาติผู้สร้างสรรค์จรรโลงศิลป์และเป็นผู้สร้างศิลปินของชาติให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง ตลอดจนการแสดงหุ่นกระบอกร่วมสมัย มหาภิเนษกรมณ์พระพุทธเจ้า โดยคณะนักแสดงจากบ้านตุ๊กกะตุ่นหุ่นกระบอกไทย ดร. นิเวศ แววสมณะ (ครูช่างศิลปหัตถกรรม ผู้อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาดีเด่น)
3. งานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ซึ่งมีการแสดงต่าง ๆ ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชม ได้แก่ การแสดงดนตรีไทย โดยคณะการแสดงดนตรีไทยจากสมาคมศิลปะเพื่อเยาวชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ การแสดงของคณะศิลปินแห่งชาติ จำนวน 6 ชุด ถือเป็นการเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและผู้สนใจงานวัฒนธรรมได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ พร้อมทั้งสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและองค์ความรู้ดั้งเดิม (traditional knowledge) ของศิลปินแห่งชาติที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้เปิดนิทรรศการเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2566 ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2568 เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 08.30 - 16.30 น. (ปิดทำการเฉพาะวันอาทิตย์) เพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจได้เรียนรู้และชื่นชมผลงานอันทรงคุณค่าของศิลปินแห่งชาติ ทั้ง 12 ท่าน อีกทั้งให้ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมไทย ซาบซึ้งในความงดงาม (aesthetics) ของศิลปะแขนงต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญของอัตลักษณ์และความภาคภูมิใจของชาติ ยิ่งไปกว่านั้น นิทรรศการนี้ยังเป็นแหล่งนำเสนอองค์ความรู้และแรงบันดาลใจ (inspiration) ให้เยาวชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้สัมผัสเรื่องราวชีวิตกับผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผ่านสื่อจัดแสดงที่หลากหลายทั้งภาพถ่าย เรื่องราว และวีดิทัศน์ที่สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญ (mastery) และความสร้างสรรค์ (creativity) ของศิลปินแต่ละท่าน ก่อให้เกิดกำลังใจ (encouragement) และการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาทางศิลปะไทย พร้อมทั้งปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงคุณค่าของงานศิลปะไทย และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ต่อไป ...
🔖 หน่วยงานผู้รับผิดชอบ : กอง ' กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ' โดย กลุ่มยกย่องเชิดชูเกียรติทางวัฒนธรรม ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น