นักวิจัยไทย ร่วม เวทีสัปดาห์น้ำสากลแห่งเอเชียโชว์แผนงานวิจัยเสริมความมั่นคงด้านน้ำในเขตอีอีซี ...
นักวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำของไทย ร่วมประชุมและแสดงความเห็นในเวทีสัปดาห์น้ำสากลแห่งเอเชียที่กรุงปักกิ่ง พร้อมนำเสนอแผนงานวิจัยการสนับสนุนเสริมความมั่นคงด้านน้ำโดยนวัตกรรมในพื้นที่อีอีซี รวมถึงรับฟังตัวอย่างการแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นของจีนที่ใช้เวลานานกว่า 20 ปี
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า.. ตนได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นในการประชุมสัปดาห์น้ำสากลแห่งเอเชีย ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 23-26 กันยายน 2567 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนเป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่งมีผู้นำประเทศเข้าร่วมกว่า 10 ประเทศ พร้อมองค์กรและสมาคมวิชาชีพระหว่างประเทศ เพื่อลงนามในประกาศเจตนารมย์ปักกิ่งในความร่วมมือระหว่างประเทศจีนกับสภาน้ำเอเชีย (Asia Water Council) ที่จะใช้แบบอย่างจากจีนถ่ายทอดไปยังประเทศสมาชิกในทวีปเอเชียซึ่งมีคนเข้าร่วมกว่า 1,000 คน หลังจีนออกนโยบายด้านน้ำในปี 2014
ภายในงานเดียวกัน ทางเจ้าภาพได้จัดการประชุมโต๊ะกลมวิทยาการด้านน้ำขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และเครือข่ายด้านน้ำ ในโอกาสนี้ รศ. ดร.สุจริต ได้กล่าวแสดงความยินดี และนำเสนองานวิจัยในกลุ่มนโยบายน้ำ เรื่อง การสนับสนุนเสริมความมั่นคงด้านน้ำโดยนวัตกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นผลงานจากแผนงานวิจัย เข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมรับฟังตัวอย่างการแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้นของจีที่สำเร็จและใช้เวลานานกว่า 20 ปี โดยประเด็นที่นำเสนอจะเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณคัดเลือกเป็นบทความลงใน UNESCO Water Science Report ปี 2025
สำหรับรายงานข้อเสนอเชิงนโยบายของไทยที่คณะวิจัยจัดทำขึ้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอแนะนโยบายในการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำผ่านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทบทวนแนวทางปฏิบัติด้านการใช้ทรัพยากรน้ำระหว่างประเทศ สรุปผลจากการดำเนินโครงการวิจัยในแผนงานเข็มมุ่งด้านการจดการน้ำรวม 3 ระยะติดต่อกัน และ แสดงผลลัพธ์หลักของการวิจัยพัฒนาแต่ละเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น เป็นนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำในระดับปฏิบัติการ โดยออกแบบบูรณาการอย่างเป็นระบบให้ตอบสนองกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในแต่ละพื้นที่ศึกษา ตัวอย่างการยกระดับการบริหารจัดการน้ำที่ดำเนินการไป ได้แก่.. 1) การปรับปรุงการตัดสินใจการสูบน้ำและการเก็บกักน้ำ รวมถึงการรีไซเคิลน้ำที่ใช้ซ้ำ การปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่ออุตสาหกรรมในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2) การปรับปรุงการปล่อยน้ำจากเขื่อนหลักเพื่อเพิ่มการเก็บกักน้ำเพื่อฤดูแล้งของเขื่อนในพื้นที่ราบภาคกลาง 3) การปรับปรุงระบบชลประทานด้วยระบบเซนเซอร์ ไอโอที และควบคุมการปิดเปิดประตูน้ำอัตโนมัติ พร้อมฝึกอบรมกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อลดการสูญเสียน้ำจากการส่งน้ำ และ 4) การพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่เกษตรกรน้ำฝนผ่านระบบภูมิสารสนเทศเพื่อสร้างความสามารถการวางแผนการบริหารจัดการน้ำชุมชน และเชื่อมโยงกับแผนทรัพยากรน้ำบูรณาการระดับจังหวัด
ทั้งนี้ เนื้อหารายงานดังกล่าว ได้นำเสนอประเด็นและความท้าทายด้านการจัดการน้ำที่มีอยู่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมในต่างประเทศ การทบทวนการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและสถานะความมั่นคงของน้ำ ผลลัพธ์การวิจัยหลักจากแผนงานวิจัยเข็มมุ่ง รวมถึงตัวอย่างการออกแบบเชิงนวัตกรรมที่ได้มาจากเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาจากโครงการวิจัย ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการนำไปใช้ในอนาคต ผ่านการประยุกต์นวัตกรรม รวมถึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพ เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำและยกระดับผลิตภาพน้ำของประเทศให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ...
(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chulabook.com/education/201346)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น