สสส. ร่วมกับ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จัดเวที " Environmental and Health Justice FORUM 2025 " สุขภาวะประชาชนมีได้ ต้องมีสิทธิและความเป็นในสิ่งแวดล้อมที่ดี ...
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันจัดเวที " Environmental and Health Justice FORUM 2025 " สุขภาวะประชาชนมีได้ ต้องมีสิทธิและความเป็นในสิ่งแวดล้อมที่ดี สมัชชาเอ็นจีโอสิ่งแวดล้อมชวนสังคมเร่งเปลี่ยนผ่านโครงสร้างสู่สังคมที่เอื้อนิเวศ เป็นธรรมสังคม
ที่ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต ดอนเมือง / เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) และ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาพิษอากาศ (ศวอ.) จัดเวทีสัมมนาวิชาการสาธารณะระดับชาติ " Environmental and Health Justice FORUM " ภายใต้ประเด็น " สิทธิ ความเป็นธรรม ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ พลเมืองไทย " เวทีในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อประมวลสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย และเชื่อมพลังสังคมจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า.. การขับเคลื่อนความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างเท่าเทียมหลากหลาย ทั้งจากรัฐ ภาคประชาสังคม และภาคีทุกระดับ พร้อมชื่นชมการจัดเวทีครั้งนี้ที่กำลังสร้างจุดเปลี่ยนให้เรื่องสุขภาวะที่ดีต้องมีสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย ถือเป็นสัญญาณดีของการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อหยั่งรากในสังคม
ศาสตราจารย์ (วุฒิคุณ) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ " มลพิษจากสิ่งแวดล้อมที่กระทบต่อสุขภาพพลเมืองไทย " ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM2.5 น้ำเสีย มลภาวะอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้คนไทยเจ็บป่วยเรื้อรัง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร พร้อมเสนอว่าการพัฒนาสุขภาพประชาชนต้องควบคู่กับการปกป้องระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชน เพื่อหยุดวงจรของความเจ็บป่วยที่ต้นเหตุ ไม่ใช่รอแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาแล้ว
ศาสตราจารย์ ดร.สุริชัย หวันแก้ว ประธานคณะกรรมการโครงการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (MOST) ขององค์การยูเนสโก ประเทศไทย ปาฐกถานำเสนอถึงสถานการณ์ “ วิกฤตซ้อนวิกฤต ” ที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งต่อสุขภาวะมนุษย์และผืนพิภพ พร้อมชี้ว่าโลกไม่อนุญาตให้เราคิดเฉพาะเรื่องของตนเองได้อีกต่อไป หากยังคงละเลยความเชื่อมโยงระหว่างกันในสังคม และสังคมกับธรรมชาติ สังคมจะเดินซ้ำรอยความผิดพลาด และเราอาจไม่สามารถอยู่รอดร่วมกันได้
ศ.ดร.สุริชัย เน้นย้ำว่า.. ทางรอดของสังคมไม่ได้อยู่ที่การรวมศูนย์อำนาจ หรือการรอให้รัฐแก้ไขปัญหาเพียงลำพัง แต่ขึ้นอยู่กับ "พลังการเรียนรู้ของสังคมแบบใหม่" — การเรียนรู้ที่ไม่ผูกขาด เปิดกว้าง ข้ามภาคส่วน และขับเคลื่อนผ่านขบวนการทางสังคม เพื่อสร้างระบบที่โปร่งใส รับผิดชอบ และหลุดพ้นจากกรอบชาตินิยมแคบ ๆ ที่ซ้ำเติมวิกฤต ท้ายที่สุด ศ.ดร.สุริชัย ชี้ว่า.. หัวใจสำคัญของการสร้างอนาคตคือ " ความรับผิดชอบระหว่างรุ่น " (Intergenerational Responsibility) การเปลี่ยนผ่านสังคมต้องเกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันอย่างจริงจัง ไม่มีพระเอกคนเดียว และไม่สามารถโทษผู้ร้ายเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยพลังของการร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
![]() |
' คณาโชค ตามจิตเจริญ ' เลขาธิการ เครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย ... |
การประมวลสถานการณ์สิ่งแวดล้อมจากทั่วประเทศ
กรรมการสมัชชาองค์กรเอกชนฯ ได้นำเสนอภาพรวมสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาวะจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของปัญหาและความท้าทายในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการระดมความเห็นและร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายต่อไป
• ภาคเหนือ สถานการณ์เด่นคือ " วิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 และหมอกควันเรื้อรังที่ซ้ำเติมด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไฟป่าและภัยแล้ง " และการจัดการไฟที่ผิดพลาดไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศ วิถีชุมชน และไม่เชื่อมโยงไปสู่ระบบอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นปลายสุดของห่วงโซ่ปัญหาไฟป่า ทั้งหมดมีรากจากระบบการจัดการทรัพยากรที่รวมศูนย์ กีดกันสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า ทำให้ประชาชนเผชิญปัญหาสุขภาพเรื้อรังและสูญเสียแหล่งอาหารจากธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะท้อนปัญหา " น้ำที่คนใช้ไม่ได้ ป่าที่คนอยู่ไม่ได้ และควันที่คนหายใจไม่ได้ " ซึ่งเกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ขาดธรรมาภิบาล ละเลยระบบนิเวศท้องถิ่น ทำให้ชุมชนต้องเผชิญภัยพิบัติซ้ำซ้อนทั้งน้ำท่วม ฝุ่นพิษ และการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ เกิดปัญหาขัดแย้งทรัพยากร ประสบภาวะยากจน
• ภาคตะวันออก นำเสนอภาพ " การพัฒนาอุตสาหกรรมผิดทิศ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทุนข้ามชาติ " โดยไม่คำนึงระบบนิเวศและวิถีชุมชน แต่กลับกระทบทรัพยากรป่าไม้ ชายฝั่ง ทะเล เศรษฐกิจ สุขภาพประชาชน และสิทธิการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและแถบชายทะเล
• ภาคใต้ สะท้อนสถานการณ์ที่ " รัฐผูกทุน พัฒนาผิดทิศ คุกคามธรรมชาติ เสียงคนใต้ถูกมองข้าม " เมื่อโครงการขนาดใหญ่ทั้งอุตสาหกรรมและพลังงานเร่งขยายตัว แต่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ทรัพยากรท้องถิ่นถูกคุกคามอย่างหนัก
• ภาคกลาง ชี้ให้เห็นปัญหาที่ " เมืองเติบโตอย่างผูกขาด พัฒนาไม่สนใจคน สิทธิชุมชนถูกมองข้าม " โดยเฉพาะในเขตเมืองและปริมณฑลที่ต้องเผชิญทั้งมลพิษทางอากาศ ขยะ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นโดยตรง
การนำเสนอของกรรมการสมัชชาองค์กรเอกชนฯ จึงไม่ใช่เพียงการบอกเล่าสถานการณ์ แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภูมิภาค เพื่อระดมความคิดเห็นร่วมกัน หาทางออกเชิงนโยบาย และร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาอย่างมีพลังจากหลากหลายภาคส่วน
สำหรับกิจกรรม " Environmental and Health Justice FORUM 2025 : สิทธิ ความเป็นธรรม ในสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ พลเมืองไทย " จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14–15 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือของ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) และ ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาพิษอากาศ (ศวอ.)
ติดตามการถ่ายทอดสดได้ทาง https://www.facebook.com/TheBulletinThaihealth ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น