" รมว.อว. " เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการดาวเทียม มจพ. พร้อมต่อยอด สู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้านอวกาศ ...

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะเข้าเยี่ยมชม สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) หรือ INSTED  ห้องปฏิบัติการดาวเทียม ห้องวัดสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุและไมโครเวฟสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และห้องปฏิบัติการวัดสัญญาณ ไร้คลื่นสะท้อน (Anechoic chamber) โดยมี ดร.พงศธร สายสุจริต รก.ผอ. สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนา เศรษฐกิจ (สทอศ.) หรือ INSTED กล่าวบรรยายสรุปจากโครงการดาวเทียม KNACKSAT ฝีมือคนไทย รั้ว มจพ. ที่สร้างดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย เป็นการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ระดับการสร้างดาวเทียมได้ด้วยตนเอง ด้วย มจพ.เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านการออกแบบและสร้างดาวเทียม เชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศและ กลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ ทั้งประโยชน์ด้านภาคอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังให้ความสนใจสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่างๆ เช่น ยานสำรวจใต้น้ำแบบมีสายควบคุม การพัฒนาปืนยาวไรเฟิล ซุ่มยิงสำหรับนักทำลายใต้น้ำจู่โจมขนาด .338 นิ้ว และการพัฒนาต้นแบบปืนเล็กยาวขนาด 5.56 มิลิลเมตร 

เมื่อวันที่ 11 ก.พ.64 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมสถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ. หรือ INSTEAD) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) พร้อมเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ชั้น 4 และ ชั้น 5 อาคารบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) ได้แก่ ห้องปฏิบัติการดาวเทียม สทอศ. ห้องวัดสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุและไมโครเวฟสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และห้องปฏิบัติการวัดสัญญาณ ไร้คลื่นสะท้อน (Anechoic chamber) ในการนี้ ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัย ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน รักษาการอธิการบดี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้การต้อนรับ พร้อมด้วยทีมคณาจารย์ นำโดย อาจารย์ ดร.พงศธร สายสุจริต รศ.ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ศ.ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล คณบดี TGGS ศ.ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา ผศ.ดร.ธาดา สุขศิลา ผศ.ดร.ธีรวัจน์ แสงเพชร์ ผศ.ดร.สุรเมธ เฉลิมวิสุตม์กุล และทีมนักศึกษาโครงการ KNACKSAT ร่วมนำเสนอ

สำหรับห้องปฏิบัติการดาวเทียมได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมการบิน-อวกาศ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 นอกจากใช้สำหรับการเรียน ห้องปฏิบัติการดาวเทียมยังมีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องทดสอบต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้สำหรับการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ โดยมีผลงานต่างๆ มากมายที่ถูกพัฒนาขึ้นจากห้องปฏิบัติการ ดาวเทียมแห่งนี้ และสามารถกล่าวได้ว่าห้องปฏิบัติการดาวเทียมแห่งนี้ เป็นจุดกำเนิดของดาวเทียม KNACKSAT ขนาด 1U ที่ออกแบบและพัฒนาโดยนักศึกษาและคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกที่สร้างขึ้นทั้งหมดทุกขั้นตอนภายในประเทศไทย เนื่องจากห้องปฏิบัติการดาวเทียมนี้ เป็นสถานที่หลักในการออกแบบและสร้างดาวเทียม KNACKSAT เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการวิจัยร่วมกันพัฒนาและ ต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อก้าวไปสู่ในระดับนานาชาติ

ปัจจุบันห้องปฏิบัติการดาวเทียมไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแต่การวิจัยทางด้านดาวเทียมเท่านั้น หากยังมีการวิจัยและพัฒนา เกี่ยวกับจรวดขนาดเล็ก เช่น การพัฒนาจรวดโดยใช้เชื้อเพลิงแข็งสำหรับใช้ทดสอบจรวด โดยใช้ความเร็วเสียง การออกแบบและสร้างชุดทดสอบวัดแรงขับจรวด การออกแบบและสร้างระบบขับดันจรวดขนาดเล็ก ระบบไฮบริด เป็นต้น

การวัดทดสอบสัญญาณคลื่นความถี่วิทยุและไมโครเวฟสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ระบบสื่อสาร ถือเป็นหนึ่งส่วนสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการรับส่งข้อมูลระหว่างสถานีภาคพื้นดินกับดาวเทียมหรือยานอวกาศ การวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ในระบบสื่อสาร จำเป็นต้องวัดทดสอบอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้น ว่ามีกำลังส่ง และความไวในการรับสัญญาณมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ จะต้องมีการควบคุมสภาพแวดล้อม เช่นอุณหภูมิ ความชื้น จำนวนอนุภาคที่ฟุ้งกระจายในอากาศ เนื่องจากอาจทำให้ผลการวัดทดสอบคลาดเคลื่อนได้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้จัดสร้างห้องวัดสัญญาณแบบควบคุมจำนวนอนุภาคขึ้นในปี 2551 ในโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย RWTH Aachen ประเทศสหพันธ์สารณรัฐเยอรมัน โดยสามารถวัดสัญญาณได้ถึงความถี่ 26.5 GHz ครอบคลุมคลื่นความถี่ได้หลากหลายย่าน ของการสื่อสารผ่านดาวเทียมและความถี่ที่ใช้ในเทคโนโลยีอวกาศ

นอกจากนั้น เมื่อมีการแพร่กระจายสัญญาณออกมาจากดาวเทียมผ่านสายอากาศ การวัดทดสอบทิศทางการแพร่กระจายสัญญาณ จำเป็นต้องทำในสภาวะไร้การสะท้อน เนื่องจากการวัดสัญญาณในพื้นที่เปิด สัญญาณจะสะท้อนกับอาคารบ้านเรือน รวมทั้งวัตถุอื่นๆ อีกทั้งสัญญาณยังถูกรบกวนด้วยอุปกรณ์โทรคมนาคมอื่นๆบนโลก เช่นเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้สัญญาณที่วัดได้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทั้งในแง่ทิศทางและกำลังสัญญาณ ทั้งนี้ การกำหนดทิศทางการส่งสัญญาณมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อระบุว่าดาวเทียมหรือยานอวกาศ จะส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ของประเทศใดบนโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับงบประมาณเพื่อจัดสร้างห้องวัดสัญญาณชนิดไร้การสะท้อนในปี 2560 ซึ่งนับได้ว่าเป็นห้องวัดทดสอบไร้การสะท้อนที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (สทอศ.) มีความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) สถาบันเทคโนโลยีคิวชู (Kyushu Institute of Technology) และองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) นอกจากนี้แล้วทีมนักศึกษาจากโครงการ KNACKSAT ยังได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งบริษัท NBSPACE จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท Spin-off ทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยได้รับการจัดตั้งและสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศรวมถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยต่อไป ...

























ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

CP LAND ปรับแผนสื่อสารเจาะนิวเจน พบถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดชาร์ตอันดับ 2 จากผลสำรวจของ Zanroo ...

3 หน่วยงาน ขานรับนโยบาย กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) อย่างมีระบบ ...