ม.บูรพา ผนึกกำลัง เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนนโยบาย ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ...
ที่ หอประชุมธำรง บัวศรี มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน จังหวัดชลบุรี / เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2567 มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (สัญจร) (SUN Thailand) ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมฯ และมอบนโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย แก่สมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย จำนวน 49 สถาบัน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษชัย ศรีบุญมา ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย กล่าวขอบคุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. และมหาวิทยาลัยบูรพาในการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมให้การต้อนรับ และ นำชมนิทรรศการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัย
ในโอกาสนี้ ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ผู้ตรวจราชการ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤษชัย ศรีบุญมา ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับ นโยบาย ทิศทาง และการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ดร. ' จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ ' ผู้ตรวจราชการ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) |
รศ.ดร. ' วัชรินทร์ กาสลัก ' อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา |
รศ.ดร. ' กฤษชัย ศรีบุญมา ' ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย |
ในการจัดประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นเวทีสำคัญสำหรับการกำหนดแนวนโยบายเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการชี้วัดความเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน อันจะเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และการสร้างความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ ที่สอดคล้องเชื่อมโยงต่อบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ นำสู่การเป็นต้นแบบสำคัญของภาคส่วนภายในสังคมของประเทศที่สามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลการดำเนินงานสู่ภาคส่วนอื่นได้ต่อไปในอนาคต
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้จัดกิจกรรมการศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานตามแนวทางมหาวิทยาลัยยั่งยืนกับชุมชน เยี่ยมชมนิทรรศการด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของมหาวิทยาลัยบูรพา นิทรรศการศิลปกรรมแห่งชาตินิทรรศการศิลปกรรมร่วมสมัยศิลปินรุ่นเยาว์ โลกใต้ทะเล และ “ EEC Automation Park ” ศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม 4.0 จากนั้น วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2567
ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ จำนวน 72 ต้น เยี่ยมชมและศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยแบ่งเป็น..
กลุ่มที่ 1 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
กลุ่มที่ 2 บ้านสวนอิสรีย์เกษตรอินทรีย์และฟาร์มม้าเมืองจันท์
กลุ่มที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านปลา-ธนาคารปู
และ กลุ่มที่ 4 สวนร่วมสมัย สวนท่องเที่ยวและศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร
ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว เป็นศูนย์ที่บ่มเพาะขึ้นเพื่อเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ สู่การเป็นต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับภาคส่วนงานอื่น ๆ ในท้องถิ่น ภูมิภาคและคลอบคลุมไปถึงระดับประเทศ ณ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2567 เวลา 13.00 น. มหาวิทยาลัยบูรพา โดยคณะผู้บริหารและหัวหน้าส่วนงานได้ร่วมลงนามประกาศแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนและดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals : SDGs) เพื่อเป็นการแสดงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำทางการศึกษาและการวิจัยที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการบูรณาการแนวคิดและหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับทุกมิติของการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยต่อไป ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น