วช. ร่วมกับ รร.นายร้อยตำรวจ ขับเคลื่อนประเทศไทยปราบปรามการทุจริต ด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย “ Eagle Eyes Thailand และ e-Service Center ”

ที่ ห้องแมกโนเลีย โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนต์ คอนเวนชั่น / เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ จัดประชุมเผยแพร่ผลการดำเนินแผนงานวิจัยการพัฒนานโยบายและต้นแบบการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย 






ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมกล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ คอร์รัปชันในไทย แก้อย่างไรให้ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือค่า CPI เพิ่ม ” และมี พล.ต.ท.ดร.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และ ผศ.พ.ต.อ.ดร.ธิติ มหาเจริญ รองคณบดีคณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ผู้บริหารจัดการแผนงาน กล่าวรายงาน โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 กล่าวนโยบายสำนักงานการวิจัยแห่งชาติกับการขับเคลื่อนงานวิจัย ผ่านระบบ zoom meeting 

ดร.ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ คอร์รัปชันในไทย แก้อย่างไรให้ค่า CPI เพิ่ม ” โดยให้ข้อมูลว่า การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ จะทำให้ประชาชนสามารถรับรู้การดำเนินการ ขั้นตอนและการใช้งบประมาณ ของภาครัฐ ซึ่งการมีข้อมูลที่ภาครัฐจริงใจในการเปิดเผยอย่างครบถ้วน จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และเป็นแนวทางสำคัญที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และสามารถช่วยเพิ่มคะแนน CPI ของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม 

พล.ต.ท.ดร.เสนิต สำราญสำรวจกิจ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้กล่าวถึง  ความสำคัญของการประชุมเผยแพร่ผลการดำเนินแผนงานวิจัยการพัฒนานโยบายและต้นแบบการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ว่า.. โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จาก วช. ซึ่งมีโครงการวิจัยย่อยจำนวนทั้งสิ้น 3 โครงการ โดยมีวัตถุประสงค์ของแผนงานเพื่อทบทวนนโยบายและยุทธศาสตร์ การสำรวจการรับรู้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ การสร้างนวัตกรรมต้นแบบ และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ในการรขับเคลื่อนการยกระดับค่าดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยอันจะนำไปสู่การผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการยกระดับคะแนน CPI ของประเทศไทยที่เป็นไปตามตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

ผศ.พ.ต.อ.ดร.ธิติ มหาเจริญ รองคณบดีคณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ในฐานะผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย กล่าวว่า.. แม้หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีความพยายามในการยกระดับค่า CPI ผ่านมาตรการเชิงบวกต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ผลที่ได้รับยังไม่สามารถสร้างการรับรู้และความตระหนักถึงความสำคัญของดัชนีการรับรู้การทุจริตให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางได้ แผนงานวิจัยดังกล่าวนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการทบทวนนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การสร้างนวัตกรรมต้นแบบเพื่อเป็นกลไกเชิงรุกในการเฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการเสนอมาตรการที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการยกระดับค่า CPI ได้ในเชิงรูปธรรมทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ โดยมีโครงการย่อยภายใต้แผนงาน จำนวน 3 โครงการ และมีผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่..

1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์การยกระดับค่า CPI ใน 5 ด้าน 16 นโยบาย การเปิดเผยข้อมูลการเงินการคลังประเภทเงินทุนหมุนเวียน เงินกองทุน เงินนอกงบประมาณ การแก้ปัญหาสินบนโดยประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO 37001

2) ระบบ Eagle Eyes Thailand (https://eagleeyesthailand.com) เป็นช่องทางการแจ้งเบาะแสและเรื่องร้องเรียนการทุจริตสำหรับประชาชน

3) ระบบ e-Service Center (https://e-servicethai.com) เป็นต้นแบบนวัตกรรมเพื่อลดการให้หรือรับสินบนในกระบวนการติดต่อหรือขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการรวบรวมระบบ e-Service การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐกว่า 100 กระบวนงาน

นางสาวสตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 กล่าวว่า.. วช. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ของประเทศ ได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นให้เกิดผลสำเร็จที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ ทั้งมิติด้านวิชาการ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและชุมชน และด้านนโยบายเพื่อให้เกิดประโยชน์สำคัญในการสร้างกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นานาประเทศ ทั้งนี้ วช. ได้สนับสนุนงานวิจัยการเผยแพร่ผลการดำเนินแผนงานการพัฒนานโยบายและต้นแบบการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ซึ่งมี ผศ.พ.ต.อ.ดร.ธิติ มหาเจริญ  เป็นหัวหน้าแผนงาน เพื่อสำรวจการรับรู้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ และนำมาสร้างเครื่องมือและกลไกสำคัญในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยในสายตาของนานาชาติ อันจะเป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน






ถัดมา เป็นการเสวนา ในหัวข้อ เรื่อง “ การพัฒนานโยบายและต้นแบบการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ” โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.พ.ต.อ.ดร.ธิติ มหาเจริญ รองคณบดีคณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ต.ท. วิชิต อาษากิจ อาจารย์ (สบ 2) คณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ และ พ.ต.ต.ดร.ปริญญา สีลานันท์ อาจารย์ (สบ 2) คณะนิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ดำเนินรายการโดย ดร.ชนิดา อาคมวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการ สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช. มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการเสวนาดังกล่าว



ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า งานวิจัยด้านแผนงานวิจัยการพัฒนานโยบายและต้นแบบการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย จะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการและกลไกการปราบปรามการทุจริต การปรับปรุงกระบวนการปราบปรามการทุจริตที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาการจัดการองค์ความรู้ด้านการปราบปรามการทุจริต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และส่งผลให้ไทยมุ่งไปสู่เป้าหมายการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริตในอันดับที่ดีขึ้นต่อไป ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

CP LAND ปรับแผนสื่อสารเจาะนิวเจน พบถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดชาร์ตอันดับ 2 จากผลสำรวจของ Zanroo ...

3 หน่วยงาน ขานรับนโยบาย กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) อย่างมีระบบ ...