นายกฯ นำทีมรัฐมนตรีร่วมกิจกรรม “ เที่ยวใต้ สุดใจ ” เร่งบูรณาการกระตุ้นท่องเที่ยว 3 จังหวัดศักยภาพภาคใต้ “ ปัตตานี - ยะลา - นราธิวาส ” สู่เมืองท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ...

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ได้แก่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมกิจกรรม “ เที่ยวใต้ สุดใจ ” ในวันที่ 27 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เพื่อบูรณาการวางแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี - ยะลา – นราธิวาส โดยนายกรัฐมนตรีเล็งเห็นว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพเติบโตทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวสูง พร้อมเร่งสร้างดีมานด์ทางการท่องเที่ยวผ่านการส่งเสริมกระแสท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และผลักดันด้านการคมนาคม รวมถึงมาตรการการตรวจคนเข้าเมืองให้พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ





ภารกิจในช่วง 3 วันที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนแหล่งท่องเที่ยวทั้งเชิงพหุวัฒนธรรม พบปะชุมชนท่องเที่ยว ชมการแสดงทางวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงสำรวจศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงอาหาร อาทิ ชิมอาหารฮาลาลเมนูเอกลักษณ์ของทั้ง 3 จังหวัด เพื่อวางแนวทางในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลในภูมิภาค (Halal Hub) ชมการเพาะเลี้ยงปลานิลสายน้ำไหลและปลาพลวงชมพู ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจของอำเภอเบตง พร้อมเร่งผลักดันทั้งทุนการวิจัยและการขยายพันธุ์เตรียมพัฒนาเข้าสู่ตลาดโลก เข้าชมแหล่งท่องเที่ยวแบบ Low Carbon Net Zero และเข้าเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวสายศรัทธา อาทิ มัสยิดกรือเซะ ศาลหลักเมืองปัตตานี ศาลหลักเมืองยะลา ศาลเจ้าเล่งจูเกียง มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม พุทธมณฑลจังหวัดนราธิวาส (พุทธอุทยานเขากง)



นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะ ยังสวมใส่ผ้าลายพื้นเมืองและลายประจำแต่ละจังหวัด ตลอดระยะเวลากิจกรรม ได้แก่.. “ เสื้อลายชบาปัตตานี ” ลายพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญาฯ และเป็นลายผ้าประจำ จ.ปัตตานี, “ เสื้อสีมายา ” จ.ยะลา ผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ มีลวดลายผสมผสานเล่าวิถีชีวิตของคนโบราณ 3,000 ปี และ “ เสื้อลายเมอนารอ ” จากกลุ่ม Saloma Patek  ต.ปาดเสมัส อ.สุไหงโก-ลก ผสมผสานอัตลักษณ์ของผ้าพื้นถิ่นกับลายพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยใช้เทคนิคผ้าปาเต๊ะออกแบบซ้อนลายถึง 4 ชั้น สื่อถึงแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ที่หล่อเลี้ยงชาวนราธิวาส ได้แก่ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก แม่น้ำสายบุรี และ แม่น้ำตากใบ


โดยวานนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2567) นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุมยกระดับการท่องเที่ยวและพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ โดยกล่าวว่าได้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมมากมาย รวมถึงได้วางแนวทางการนำวัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ไปเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก และเตรียมยกระดับการอำนวยความสะดวกในการเดินทางท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวในหลายมิติ อาทิ การปรับปรุงด่านศุลกากร การหารือกับฝ่ายความมั่นคงปรับปรุงท่าอากาศยานเบตงให้มีรันเวย์ยาวขึ้น และการขยายด่านชายแดน ยกเลิก ตม.6 เพื่อให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสะดวกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังกล่าวถึงความประทับใจของการได้มาร่วมกิจกรรม “เที่ยวใต้ สุดใจ” ครั้งนี้ และรัฐบาลจะกลับมาเยี่ยมเยียนอีกครั้งภายในปี 2568 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า.. พื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูง ทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยว ชุมชนท่องเที่ยว อาหารถิ่น และของที่ระลึก รวมทั้งมีกิจกรรมประเพณีที่น่าสนใจต่อการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี โดย ททท. พร้อมต่อยอดส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตามแนวทางที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา


สำหรับแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของพื้นที่ 3 จังหวัดดังกล่าว ในปี 2567 ททท. พร้อมดำเนินภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่..

1.การส่งเสริมการตลาดผ่าน 3 แคมเปญหลัก ได้แก่ “ โครงการ Amazing Healing Powers of Deep South ”, “ โครงการเที่ยวนี้มีรักษ์ @นรา ยะลา ตานี ”, “ โครงการ Explore Narathiwat Yala Pattani 3 จังหวัด ไม่ไป-ไม่รู้ ” 

2. การกระตุ้นการเดินทางกับสายการบินในประเทศ โดยจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง หรือเมืองหลักเชื่อมโยงเมืองรอง ประกอบด้วย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ 15 มีนาคม – 15 มิถุนายน 2567 สายการบินไทยแอร์เอเชีย 1 พฤษภาคม – 1 กรกฎาคม 2567 

3. การจัดงานส่งเสริมการขาย “ Amazing Thailand เที่ยวดี-ของเด็ด 3 จังหวัดชายแดนใต้ ” ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐจัดงานส่งเสริมการขาย Consumer Fair ในรูปแบบ B2C นำสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของสามจังหวัด มาเสนอขายนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ 

4. การส่งเสริมการท่องเที่ยวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อย่างต่อเนื่องภายใน “ เทศกาลเที่ยวเมืองไทย ปี 2567 ” ที่มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยจะจัดแสดงหมู่บ้านภาคใต้ สู่เมืองพหุวัฒนธรรมด้วยแลนด์มาร์คจำลองบรรยากาศ “ หอนาฬิกาเบตง ” จำลองเรือนไทยทรงปั้นหยาได้รับแรงบันดาลใจจาก “ วัดชลธาราสิงเห ”

5. การต่อยอดประชาสัมพันธ์จาก ยูเนสโก ประกาศให้ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ยะลา เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของโลก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผลงานเด่นที่ทำให้ได้รับเลือก โดยสอดคล้องกับการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ SDGs


ทั้งนี้ ททท. ตั้งเป้าหมายว่า ภายใต้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งผ่านโครงการต่างๆ ของพันธมิตรจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในปี 2567 นี้ จะส่งเสริมให้ ททท. สามารถผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่พื้นที่จังหวัดปัตตานี - ยะลา – และนราธิวาส ให้เติบโตจากปี 2566 ได้มากถึง ร้อยละ 20 อย่างแน่นอน ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ททท. ร่วมมือกับ บขส. จัดรถนำเที่ยวฟรี 10 วัน โอกาสครั้งสำคัญ เปิดกรุ มรดกธรรมล้ำค่าแห่งยุครัตนโกสินทร์ เส้นทางเที่ยวชมโบราณวัตถุล้ำค่าที่หาดูได้ยากกับกิจกรรม “ เป็นบุญตา ครั้งหนึ่งในชีวิต ”

สมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย (TACCO) แถลงข่าวการจัดตั้งสมาคมการค้าโกโก้และช็อกโกแลตไทย พร้อมเปิดตัว งาน Thailand Craft Chocolate Fest’24 ...

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’