สกสว. จับมือ มรภ.มหาสารคาม ผลักดันการวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ...

สกสว. ร่วมหารือการขับเคลื่อนการวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ สู่การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ สกสว. ร่วมประชุม หารือนโยบายและทิศทางการสนับสนุนงบประมาณด้าน ววน. ของมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรภ.มหาสารคาม) โดยมี ผศ.ดร.ภาคย์ สนธเสาวภาคย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.มหาสารคาม และนักวิจัย ให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ และกิจกรรม ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 6 โครงการ ได้แก่..

1. แผนงานการบูรณาการเทคโนโลยีและการพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงกบครบวงจร, โครงการการ พัฒนาระบบการเลี้ยงกบสู่เกษตรอัจฉริยะ โดย ผศ.ดร.จุฑารัตน์ แก่นจันทร์ และคณะ  

2. แผนงานการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงมหาชนกเพื่อการส่งออก จังหวัด มหาสารคาม โดย ผศ.ทวีทรัพย์ ไชยรักษ์ และคณะ  

3. โครงการศักยภาพของเห็ด Phellinus ที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อก่อโรคในสัตว์, โครงการการ พัฒนาดีเอ็นเอบาร์โค๊ดเห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาเพื่อใช้เป็นอาหารเสริมสมุนไพรในประเทศไทย โดย ผศ.ดร.ยุวดี อินสำราญ

4. โครงการการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตปอเทืองครบวงจรสู่การสร้างชุมชนนวัตกรรม ต้นแบบจังหวัดมหาสารคาม โดย ผศ.นภาพร เวชกามา และคณะ  

5. โครงการการพัฒนาการผลิตเมล็ดพันธุ์ปอเทืองคุณภาพและผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ชุมชนจากปอเทือง โดย ผศ.ดร.ณภาภัช ไชยน้ำอ้อม และคณะ  

6. โครงการพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์กลุ่มสมุนไพรบ้านโคกกลาง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม โดย อาจารย์ ดร.กัลยาณี เจริญโสภารัตน์ และคณะ

โอกาสนี้ ผศ.ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง กล่าวว่า.. สกสว. มีพันธกิจในการจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศ รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ซึ่งแบ่งออกงบประมาณเป็น 2 ส่วน ได้แก่ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund-SF) ให้กับหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 แห่ง ตามแนวนโยบายระดับชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ แผนด้าน ววน. หรือ ประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งประเด็นที่เกิดจากความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์โดยตรงซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้าง และงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) โดยจัดสรรในรูปแบบงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพตามพันธกิจของหน่วยงาน ให้แก่ กระทรวง กรม มหาวิทยาลัย ทั้งในและนอกกระทรวง อว. รวม 190 หน่วยงาน ซึ่ง มรภ.มหาสารคาม เป็นหนึ่งในจำนวนนี้

อย่างไรก็ตาม นอกจากงบประมาณ FF เพื่อดำเนินการตามพันธกิจแล้ว นักวิจัย มรภ.มหาสารคาม ยังสามารถ เสนอของบประมาณ เพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ และ การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยอิงตามแผนด้าน ววน. ปี 2566-70 ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจ สร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้ มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถแก้ไขปัญหาท้าทายและปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบัน ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ สกสว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดสรรงบประมาณสำหรับแผนงาน หรือ โครงการวิจัยและนวัตกรรม ตามพันธกิจของหน่วยงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสามารถตอบสนองแนวนโยบายระดับชาติ จะนำไปสู่การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาของพื้นที่ และประเทศ ทั้งในมิติของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และ อื่นๆ ต่อไป ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

CP LAND ปรับแผนสื่อสารเจาะนิวเจน พบถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดชาร์ตอันดับ 2 จากผลสำรวจของ Zanroo ...

3 หน่วยงาน ขานรับนโยบาย กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) อย่างมีระบบ ...