ความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งของประเทศไทย ...

ผศ.ดร.เพ็ชรัตน์ ไสยสมบัติ 

คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งใหญ่ครั้งสำคัญ คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการกำหนดว่า พรรคการเมืองใดจะได้เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ เมื่อทราบผลการเลือกตั้งแล้ว ตามขั้นตอนต้องดำเนินการผ่านระบบรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย สภาสูงคือ วุฒิสมาชิก (สรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ) จำนวน 250 คน และสภาล่างคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน) จำนวน 500 คน ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีนั้น มาจากการเสนอชื่อของพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เรียกว่า “ พรรคร่วมรัฐบาล ” ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองหลายพรรคในการเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

ในช่วงเปลี่ยนผ่านปลายสมัยของรัฐบาลชุดเก่า ก่อนที่จะหมดวาระหรือก่อนที่จะมีการยุบสภาอันนำไปสู่การเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลชุดใหม่นี้ เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองในการชิงไหวชิงพริบ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางการเมือง ตลอดจนการขายฝัน ขายนโยบายเพื่อให้ได้รับความสนใจจากประชาชน ปรากฏการณ์เหล่านี้อาจส่งผลต่อความเสี่ยงทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของประเทศไทย หากแต่น้อยคนที่จะตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านั้น

ความเสี่ยงประการแรกที่เราได้พบเห็นในเวลานี้ ยิ่งเป็นช่วงปลายสมัยรัฐบาลชุดเก่า ข่าวที่ปรากฏ   ส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอข่าวของนักการเมืองลาออกเพื่อย้ายพรรค หากแต่ในความเป็นจริงแล้วมีนักการเมืองบิ๊กเนมในระดับท้องถิ่นก็มีการลาออกเพื่อลงสู่สนามการเมืองระดับประเทศเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรดานายก อบต., นายกเทศมนตรี, นายก อบจ. ไม่เว้นแม้แต่สมาชิก อบต., สมาชิกสภาเทศบาล, สมาชิกสภาจังหวัด (อบจ.) ซึ่งบางพื้นที่การลาออกแล้วเลือกตั้งใหม่ อาจทำให้เคมีทางการเมืองในท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญคือ งบประมาณที่ต้องใช้ในการเลือกตั้งซ่อม เพราะการันตีได้เลยว่างบประจำปีของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่มีการจัดสรรงบสำหรับเลือกตั้งซ่อมไว้ล่วงหน้า เนื่องจากการจัดทำงบประมาณต้องจัดทำล่วงหน้าและผ่านความเห็นชอบจาก อปท. ไปตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ดังนั้นก็ต้องมีการจัดทำข้อบัญญัติเปลี่ยนแปลงงบประมาณกันวุ่นวายพอสมควร ผลกระทบก็จะเกิดกับ อปท. นั้น ๆ ไม่มากก็น้อย บางพื้นที่ลาออกน้อยก็กระทบน้อย บางพื้นที่ เช่น ปริมณฑล นักการเมืองท้องถิ่น ลาออกหลายคน ก็ต้องจัดเลือกตั้งซ่อมมากหน่อย บางพื้นที่ลาออกคนเดียวแต่ต้องจัดเลือกตั้งทั่วทั้งจังหวัดก็มี ตัวอย่างเช่น จังหวัดสระแก้ว นายก อบจ. ลาออกเพียงคนเดียว แต่ส่งผลกระทบทั้งจังหวัด คือต้องจัดให้มีการเลือกตั้งลงคะแนนทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัดหมดงบประมาณไปไม่ใช่น้อย

ปรากฏการณ์อีกด้านหนึ่งก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลเก่าก็ต้องทิ้งทวนแต่จะทิ้งทวนย่างไรให้เป็นที่ประทับใจ ของบรรดาหัวคะแนนหรือผู้นำชุมชนต่าง ๆ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนไล่มาตั้งแต่การเพิ่มค่าตอบแทนให้ อสม. จาก 1,000 บาทเป็น 2,000 บาท การปรับอัตราเงินเดือนให้ผู้บริหารและสมาชิก อบต. และยกระดับ อบต. ให้เป็นเทศบาลทั่วประเทศ โครงการเหล่านี้ใช้เงินทั้งนั้น การยกระดับ อบต. เป็นเทศบาล อัตราเงินเดือน ก็จะเพิ่มขึ้น ไล่เรียงไปตั้งแต่ นายก อบต. เป็น นายกเทศมนตรี สมาชิก อบต. กลายเป็น สมาชิกสภาเทศบาล และล่าสุด ครม. ก็มีมติเพิ่มเงินเดือนให้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยสารวัตรกำนัน อีกคนละ 1,000 – 2,000 ต่อเดือน โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าไม่ได้ขึ้นเงินเดือนให้แก่คนเหล่านี้มานานแล้ว แต่ถ้าขึ้นพร้อม ๆ กันอย่างนี้รัฐบาลหน้าก็จะเจอโจทย์ยากขึ้นไปอีกว่าจะบริหารการคลังอย่างไร

อีกเรื่องหนึ่งคือสูตรสำเร็จของการเลือกตั้งเป็นข่าวเล็ก ๆ คนสนใจไม่มาก แต่เห็นแล้วมั่นใจเลยว่าเป็นสูตรสำเร็จอย่างแท้จริง คือ ครม. มีมติอัดงบโครงสร้างพื้นฐานลงไปที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อกระจายลงไปยัง อปท. ทั่วประเทศ งบประมาณลักษณะนี้เขาเรียกว่า เงินอุดหนุนให้แต่ละ อปท.มันคือเงินนอกงบประมาณประจำปีของแต่ละท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นไหนที่อยู่ในสายเดียวกัน ก็คงได้รับการจัดสรรงบประมาณมากหน่อย ส่วนรายไหนกระด้างกระเดื่องก็คงอดอยากปากแห้ง งบประมาณอุดหนุนรูปแบบนี้ถือว่าเป็นเสบียง      ที่จะใช้ในการเลือกตั้งได้เป็นอย่างดี

มาถึงช่วงเวลาของการเลือกตั้งกันบ้าง ช่วงหาเสียงก่อนวันลงคะแนนนี้ สภาพการเมืองในการเป็นรัฐบาลรักษาการ คงไม่มีความเสี่ยงอะไร เพราะไม่มีอำนาจไปอนุมัติโครงการสำคัญ ๆ อะไรได้ แต่ที่จะเสี่ยงก็คงเสี่ยงตอนหาเสียง หาคะแนน เพราะหนีไม่พ้นการสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเองและให้ร้ายอีกฝ่าย ถ้าจะเสี่ยงก็คงเสี่ยงเรื่องการฟ้องร้องหมิ่นประมาทหรือการร้องเรียนเรื่องการกล่าวหาโจมตีให้ร้ายป้ายสี ต่อ กกต. แต่นักการเมืองของไทยก็มีลักษณะเฉพาะอยู่อย่างคือ ตอนหาเสียงก็โจมตีกัน ด่ากัน แต่พอจะร่วมรัฐบาลก็หันเข้าหากันได้ อันนี้ไม่เสี่ยงเพราะมั่นใจว่าจับมือกันได้แน่นอน

ที่จะเสี่ยงอีกประการหนึ่งในช่วงเลือกตั้ง คือการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วทุกหัวระแหง ทั่วประเทศอย่างนี้ที่จะเสี่ยงแน่ ๆ คือ พ่อค้า คนทำมาค้าขาย ผู้ให้บริการทั้งหลาย เพราะจะเกิดอุปสงค์ (Demand) ขึ้นมา ที่เห็นได้ชัดเจน คือร้านป้าย ร้านไวนิล โรงพิมพ์ นักออกแบบทั้งหลาย ช่วงนี้มีการแย่งตัวกัน ดังนั้นที่ต้องเสี่ยงคือน่าเป็นห่วงตัวอุปทาน (Supply) จะไม่เพียงพอ บรรดาแหล่งผลิตทั้งหลายคงต้องเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ไม่ว่าเฟรมไม้ ไวนิล กระดาษสติกเกอร์ สีประเภทต่าง ๆ บรรดาเสื้อทีมของนักการเมืองพรรคการเมือง เครื่องขยายเสียง รถแห่ พ่อค้าแม่ค้าขายอาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งช่วง 45 วัน ของการหาเสียงนี้ ต้องถือเป็นช่วงนาทีทอง เม็ดเงินในระบบคงกระเตื้อง การจับจ่ายใช้สอยช่วงนี้จะพบว่า คนค้าขายจะอารมณ์ดี เพราะเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่จะดีกว่าปกติและหากจะดูไปจนถึงวันลงคะแนนเลือกตั้ง รากหญ้าในแต่ละชุมชนหมู่บ้านคงมีผลกระทบในแง่ดีทั่วทั้งประเทศ

ตัดบทมาที่ความเสี่ยงตอนสุดท้ายกันเลย คือ ช่วงเลือกตั้งเสร็จแล้ว รู้ผลการเลือกตั้งกันแล้วว่าพรรคไหนได้จำนวน สส.มาก พรรคไหนได้น้อย คนเก่าจะไปหรือคนใหม่จะมา ความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเกิด คือ ใครจะร่วมกับใคร ใครเคยรับปากใครจะผสมสูตรเคมีกันอย่างไร อันนี้เสี่ยงแน่ ๆ คือเสี่ยงว่าเมื่อไหร่ถึงจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ประชาชนต้องรอนานไหม กว่า กกต.จะรับรองผลเลือกตั้ง แล้วนักการเมืองจะหาบทสรุปกันได้อีกนานไหม คราวที่แล้วเมื่อปี 2562 ก็รู้สึกว่าจะนานพอสมควร อันนี้เสี่ยง เพราะการบริหารประเทศจะหยุดชะงัก การขับเคลื่อนไม่เกิด เพราะรอรัฐบาลใหม่เข้ามาทำงาน

อย่างไรก็ตามท้ายสุด ก็ต้องได้รัฐบาลใหม่อยู่ดี ตรงนี้มองไปถึงวันนั้นแล้ว รัฐบาลคงมีเรื่องต้องกังวลใจไม่ใช่น้อย เพราะหลายพรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาลก็ต่างต้องนำนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ออกมาปฏิบัติ เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม ทีนี้ความเสี่ยงตามมาแน่ ๆ เพราะตอนประกาศนโยบายเอาไว้ ล้วนแล้วแต่เป็นนโยบายประชานิยมทั้งสิ้น เช่น บัตรสวัสดิการประชาชน พักชำระหนี้ บำนาญประชาชน เรียนฟรี ลดภาระหนี้ ช่วยเหลืออุดหนุนเกษตรกรในรูปแบบต่าง ๆ ในทุกกลุ่มทั่วทุกภูมิภาค เช่น ภาคอีสาน ภาคใต้ ลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า ลดภาษีน้ำมัน ลดค่าไฟ มอบที่ดินทำกิน เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ หรืออื่น ๆ นโยบายเหล่านี้เสี่ยงที่จะสร้างปัญหาให้ประเทศในระยะยาว และเชื่อแน่ว่าจะส่งผลให้เกิดการใช้งบประมาณมากเกินกว่าที่ฐานะทางการคลังของประเทศเราจะรับได้ ซึ่งทางออกของกุนซือการคลังก็ไม่ยากคือใช้เงินนอกการจัดเก็บรายได้ คือ เงินกู้ หลายปีที่ผ่านมาเรากู้และทำงบประมาณแบบขาดดุลมาโดยตลอด มาจากเรื่องปัญหาภายในประเทศและปัญหาโรคระบาดทั่วโลก แต่หากไทยยังคงจะดำเนินนโยบายการคลังในลักษณะนี้ต่อไป อย่างนี้ต้องเรียกว่าเสี่ยงแน่ เพราะหนี้สาธารณะต้องเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันนโยบายประชานิยมเหล่านั้นก็ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้หมด ถึงตอนนี้ก็เสี่ยงอีกแบบคือเสียงทำให้การเมืองพัง และรัฐบาลหน้าก็คงอยู่ไม่ครบวาระ ...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

CP LAND ปรับแผนสื่อสารเจาะนิวเจน พบถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดชาร์ตอันดับ 2 จากผลสำรวจของ Zanroo ...

3 หน่วยงาน ขานรับนโยบาย กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) อย่างมีระบบ ...