วช. ร่วมกับ TEI หนุนวิจัย “ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ”
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดอบรมระยะสั้น หลักสูตร “ การวิจัยด้านสังคมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ” ภายใต้โครงการการพัฒนาองค์ความรู้และเครือข่ายบุคลากรวิจัย ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดฯ และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นผู้กล่าวต้อนรับฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า.. วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ให้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมทั้งหมด 6 หลักสูตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ผ่านการฝึกอบรมแก่นักวิจัยนักวิชาการและผู้ที่สนใจ ให้มีความเข้าใจในทิศทางการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งให้ความสำคัญกับทิศทางของทั้งระดับภูมิภาคและระดับนานาประเทศ ในเรื่องของทิศทางการวิจัยและพัฒนาในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในมิติด้านนโยบาย วิชาการ สังคม ชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรอบการใช้ประโยชน์ ในเชิงของภาคธุรกิจ หรือเชิงพาณิชย์ และความต้องการหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกันดำเนินการ
โดย วช. ให้ความสำคัญในการสร้างและการพัฒนาองค์ความรู้ลักษณะบูรณาการ ตลอดจนนโยบายและแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับที่เป็นกระแสโลกและนโยบายของประเทศ ตลอดจนการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ เพื่อออกแบบงานวิจัยให้สอดคล้องกับความต้องการและนำไปใช้ประโยชน์ ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย การอบรมมีทั้งหมด 6 หลักสูตร และได้จัดอบรมไปแล้ว 2 หลักสูตร คือ 1) “ การวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ” และ 2) “ การวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม ” และในวันนี้เป็นการอบรมหลักสูตรที่ 3 (EP.3) “ การวิจัยด้านสังคมเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ” ซึ่งอบรมระหว่างวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม 2565 เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่จะนำมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่มีส่วนร่วมในสังคมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม
โดยมุ่งหวังจะเพิ่มพูนทักษะในการจัดทำข้อเสนอโครงการให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของแหล่งทุน หน่วยงาน และประเทศ และสร้างเครือข่ายนักวิจัยที่จะร่วมมือกัน สร้างสรรค์ผลงานวิจัยทางสังคมอันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับพื้นที่และภาพรวมของประเทศ และยังช่วยกันพัฒนาและสร้างนวัตกรรมด้านการจัดการมลพิษสิ่งแวดล้อมของประเทศ ให้สามารถตอบโจทย์ของหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม และใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนสนับสนุน แก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การอบรมมีทั้งหมด 6 หลักสูตร ประกอบด้วย 1) หลักสูตรการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) หลักสูตรการวิจัยด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม 3) หลักสูตรการวิจัยด้านสังคมเพื่อการปรับพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 4) หลักสูตรการวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 5) หลักสูตรการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ และ 6) หลักสูตรมาตรการเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยจัดผ่านระบบ zoom meeting ระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง สิงหาคม 2565 โดยอบรมหลักสูตรละ 3 วัน ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับความรู้จากวิทยากรและนักวิชาการชั้นนำเกี่ยวกับนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมในระดับต่าง ๆ เกิดการสร้างเครือข่ายนักวิจัยงานวิจัยเชิงบูรณาการที่ได้รับการยอมรับในระดับเชิงพื้นที่สู่ระดับสากลนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น