ซินโครตรอน ร่วม สวพส. ยกระดับ “ ข้าวดอย ” สู่ Super Food ...

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์คุณค่าโภชนาการ “ ข้าวดอย ” ลงลึกถึงระดับโมเลกุล พบบางสายพันธุ์ให้ธาตุเหล็ก-สังกะสีปริมาณสูง บางสายพันธุ์มี “ ฟีนอลิก ” และ “ ฟลาโวนอยด์ ” สูง มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสายพันธุ์อื่นกว่า 20 เท่า ปูทางสู่การพัฒนา Super Food ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค และสร้างรายได้แก่กลุ่มชาติพันธุ์บนดอย   

นาข้าวดอย ...

“ ข้าวดอย ” เป็นข้าวที่ปลูกตามชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ บนพื้นที่สูงของประเทศไทย โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงระบุว่า มีข้าวดอยมากกว่า 300 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็มีรูปร่างลักษณะของเมล็ด เนื้อสัมผัส และมีรสชาติที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ยังเรียก “ ข้าว ” แตกต่างกัน เช่น ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเรียกข้าวว่า “ บือ ” ชาติพันธุ์ละว้าข้าวเรียกว่า “ เฮงาะ ” ชาติพันธุ์ม้งเรียกข้าวว่า “ เบล้ ” ชาติพันธุ์ลีซอเรียกข้าวว่า “ จะ ” หรือ “ จา ” และชาติพันธุ์อาข่าเรียกว่า “ แชะ ” เป็นต้น

คณะนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน นำโดย ดร.สมชาย ตันชรากรณ์, ดร.วราภรณ์ ตัณฑนุช, ดร.นิชาดา เจียรนัยกูร และ ดร.รัชฎาภรณ์ ทรัพย์เรืองเนตร ร่วมกับ ดร.จันทร์จิรา รุ่งเจริญ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง คัดเลือกข้าวดอย 20 สายพันธุ์ เพื่อศึกษาวิจัยด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนในการจำแนก จัดกลุ่ม และค้นหาสายพันธุ์ที่เป็น SUPERFOOD โดยสามารถจำแนกและจัดกลุ่มข้าวดอยด้วยองค์ประกอบทางชีวเคมี และโครงสร้างโมเลกุลที่เป็นองค์ประกอบของข้าวได้อย่างรวดเร็ว

ดร.สมชาย ตันชรากรณ์ กล่าวว่า “ การใช้แสงซินโครตรอนในการวัดตัวอย่างข้าวนั้น สามารถวัดได้โดยตรง ไม่ต้องใช้สารเคมีสกัดสารสำคัญออกจากเมล็ดข้าว จึงเป็นการช่วยลดความผิดพลาดจากการเตรียมตัวอย่าง และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดกลุ่มข้าว ให้มีความถูกต้องชัดเจน และรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเดิมการจัดกลุ่มข้าวอาศัยคุณลักษณะทางกายภาพเป็นหลัก ”

ข้าวสายพันธุ์จาคูเนเน ...

ข้าวสายพันธุ์จานูเนเน ...

จากการวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอน พบว่า.. ข้าวดอยอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ต่างๆ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีไฟโตนิวเทรียนต์ที่จำเป็นต่อร่างกาย และยังพบว่าข้าวดอยบางสายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เบล้เจ่าของชาติพันธุ์ม้ง จาคูเนเนของชาติพันธุ์ลีซอ และม๊อคก๊อคของชาติพันธุ์ละว้า มีกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวปริมาณสูงกว่าสายพันธุ์อื่น ซึ่งมีรายงานว่า กรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดต่างๆ สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดได้ เป็นต้น

เมล็ดข้าวดอยสายพันธุ์ต่างๆ ...

ส่วนข้าวสายพันธุ์แชะโกว้ของชาติพันธุ์อาข่า ข้าวสายพันธุ์เบล้เจ่าและข้าวสายพันธุ์บือหมื่อโพของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีปริมาณธาตุเหล็กและสังกะสีในปริมาณสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ทำการศึกษาพร้อมกัน โดยธาตุเหล็กและสังกะสีที่พบอยู่ในรูปองค์ประกอบอินทรีย์ จึงสามารถดูดซึมง่ายและร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้การตรวจพบที่สำคัญพบว่า ข้าวดอยสายพันธุ์จานูเนเน และสายพันธุ์จาคูเนเน และข้าวดอยอีกสายพันธุ์ที่มีเมล็ดข้าวสีแดงแต่ไม่สามารถระบุชื่อพันธุ์ได้นั้น มีปริมาณ “ ฟีนอลิก ” และ “ ฟลาโวนอยด์ ” สูงที่สุด ซึ่งมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ถึง 5 เท่า และตรวจพบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระมากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ กว่า 20 เท่า 

ทานข้าวกลางวันที่นา ...

“ งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเบื้องต้น ยังมีข้าวดอยอีกหลายร้อยสายพันธุ์ที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย ผลที่ได้จะนำไปสู่ฐานข้อมูลความหลากหลายของพันธุกรรมข้าวดอยที่มีปลูกบนพื้นที่สูงของประเทศไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับการส่งเสริมให้แก่ผู้บริโภค เป็นอาหารที่เรียกว่า “ SUPERFOOD ” ต่อไปในอนาคต และเป็นการขยายโอกาสในเชิงพาณิชย์ให้แก่ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์สร้างรายได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ” ดร.จันทร์จิรา รุ่งเจริญ กล่าว ...

เครดิตภาพ - สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

CP LAND ปรับแผนสื่อสารเจาะนิวเจน พบถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดชาร์ตอันดับ 2 จากผลสำรวจของ Zanroo ...

3 หน่วยงาน ขานรับนโยบาย กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) อย่างมีระบบ ...