“ วธ. ” ร่วมกับ “ วิศวะฯ จุฬาฯ ” และ “ สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ ” จัดการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ...

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม (Sustainable and Cultural Community) ” ในรอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) และพิธีปิด (Closing Ceremony) 

ที่ห้องประชุม ชั้น 12 โรงแรม The Quarter Hualamphong by UHG / วานนี้ (7 กรกฎาคม 2565) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ภายใต้หัวข้อ “ ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม (Sustainable and Cultural Community) ” รอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) และพิธีปิด (Closing Ceremony) โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี 

“ ชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม ” เป็นโครงการประกวดนโยบายทางเลือกและแนวคิดริเริ่มการพัฒนาชุมชนยั่งยืน ที่เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาอายุไม่เกิน 25 ปี จากทั่วประเทศเข้าร่วมการประกวดเพื่อคัดเลือก 30 ทีมที่ได้ร่วมกิจกรรม Design Thinking Workshop พัฒนาแนวคิดที่ส่งเข้ามาประกวด หลังจากนั้น ทั้ง 30 ทีมได้ส่งผลงานเพื่อคัดเลือกจนเหลือ 10 ทีมสุดท้าย ซึ่ง 10 ทีมสุดท้ายนั้นได้มีการเข้าร่วมกิจกรรม Mentoring และ Sharpening ก่อนจะเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันนี้

ก่อนการนำเสนอรอบชิงชนะเลิศ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล หัวหน้าโครงการฯ กล่าวต้อนรับและกล่าวถึงที่มา วัตถุประสงค์ กิจกรรมที่ผ่านมา และความคาดหวังของโครงการ ว่า.. โครงการชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรมมีที่มาจากความสัมพันธ์ 115 ปีของประเทศไทย-นอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์นั้นเป็นต้นกำเนิดของการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ซึ่งหากเรากลับมามองประเทศไทย ซึ่งมีแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และมีวัฒนธรรมไทยที่มีคุณค่าและชาวต่างชาติให้ความสนใจมาเยี่ยมชมมากมาย จึงเกิดแนวคิดว่าเราจะสร้างความยั่งยืนแบบของประเทศไทยเองได้อย่างไร


“ โครงการนี้ เกิดจากความร่วมมือของสามหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีมูลค่าและสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดมูลค่าได้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีองค์ความรู้และช่วยพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม และ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นผู้สื่อสาร เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานออกไปได้ในวงกว้าง จากการดำเนินงานกว่า 6 เดือนที่ผ่านมา ทางผู้จัดงานได้เห็นถึงความเข้าใ ความตระหนักและความมุ่งมั่นของเยาวชนต่อการสร้างชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรม สุดท้ายนี้ หลังจากจบการแข่งขันแล้ว ทางโครงการหวังว่าเยาวชนแต่ละทีมจะมีการต่อยอด ลงมือทำต้นแบบ ทดสอบและปรับปรุงโครงการต่อไปในอนาคต และหวังว่าโครงการชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรมจะสามารถจุดประกายให้เกิดการต่อยอดของทุกๆคน เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตต่อไป ”


ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศมีทีมที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 10 ทีม จากเยาวชนที่สนใจและสมัครเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 169 ทีม ซึ่งผลการประกวดรอบชิงชนะเลิศเป็นดังนี้..

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม “ หนูจิ๋วหนูแจ๋ว ” เป็นโครงการพัฒนารูปแบบของเล่นพื้นบ้านผ่านกิจกรรมหลากหลายประเภท ทั้งกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการที่ใช้เทคโนโลยีต่างๆทำให้เกิดความน่าสนใจ การใช้สื่อประชาสัมพันธ์ออนไลน์ Digital Marketing และการแข่งขันของเล่นพื้นบ้านในเทศกาลของชุมชน อันก่อให้เกิดการสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป ซึ่งสมาชิกในทีมประกอบด้วย (1) นางสาวอัญชัญ กรวยฟู้ (2) นายภาณุพันธ์ ขัติยะ โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ และ (3) นางสาวกันยกร บุญเกิดวัย วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม “ Pipako ” เป็นโครงการปรับเปลี่ยนวิธีชีวิตในชุมชนในการเก็บเห็ดเผาะจากเดิมที่เป็นการเผา เป็นการเพาะเห็ดเผาะแทนและนำไปสู่การตั้งศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งสมาชิกในทีมประกอบด้วย (1) นางสาวปภาวรินท์ เซี่ยงหลิว (2) นางสาวปารย์ ภูธรารักษ์ และ (3) นางสาวบุญญิศา วานิชกุล โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม “ กมุทมาศนารี ” เป็นโครงการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนตลาดเก่าอ่างศิลา 100 ปีให้เป็นถนนสายวัฒนธรรมไทย-จีน เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต ก่อให้เกิดการสร้างรายได้แก่ชุมชน ซึ่งสมาชิกในทีมประกอบด้วย (1) นางสาวธนาวดี รุ่งรส (2) นางสาวรสากร วงษ์บุญจันทร์ และ (3) นางสาวสริตรา วณิชกิตติโชติ โรงเรียนชลกันยานุกูล ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท

รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม “ Too hot to handle ” เป็นโครงการเพื่อเผยแพร่หนังตะลุงผ่านทางสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น การนำเสนอข่าว เพื่อทำให้หนังตะลุงเป็นที่สนใจและเกิดการสืบสานต่อไป ซึ่งสมาชิกในทีมประกอบด้วย (1) นางสาวปุณยนุช สุนทรีวงศ์ (2) นางสาวกีรัตยา อธิภัทรพงศ์ และ (3) นายศุภกร ณ ระนองโรงเรียนบูรณะรำลึก และ ทีม “ Phantomhive ” เป็นโครงการพัฒนาชุมชนเรณูนครให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อทำให้วัฒนธรรมชุมชนภูไทเป็นที่รู้จักมากขึ้น สร้างความตระหนักให้แก่ชุมชน และก่อให้เกิดร้ายได้ ซึ่งสมาชิกในทีมประกอบด้วย (1) นางสาวอภิญญา พลเขต (2) นางสาวกุสุมา มีสวาสดิ์นอก (3) Mr. Phanit Phan มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้รับเงินรางวัล ทีมละ 5,000 บาท

หลังจากการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเสร็จสิ้น ประธานในพิธีได้มอบรางวัลให้กับทั้ง 5 ทีมข้างต้น รวมถึงกล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลและกล่าวปิดโครงการฯ โดยมีใจความสำคัญว่า “ คุณค่าของโครงการชุมชนยั่งยืนหวนคืนวัฒนธรรมนี้ ได้แก่ การที่เยาวชน ซึ่งเปรียบเป็นเมล็ดพันธุ์ ได้บอกเล่าเรื่องราวที่มาจากความตั้งใจจริง ความต้องการ ความคิดสร้างสรรค์ ให้สังคมได้รับรู้ ซึ่งในขั้นต่อไป การที่เมล็ดพันธุ์จะแบ่งบานและเติบโตออกไปขึ้นกับเยาวชนทุกๆคน การประกวดย่อมมีการแพ้ชนะ การไม่ได้รับรางวัลไม่ได้เป็นการกำหนดคุณค่าของโครงการที่นำมาประกวด อาจเพียงต้องการการเหลาคมความคิดเพื่อพัฒนาต่อไปในอนาคต เวทีนี้เป็นเพียงแค่เวทีเริ่มต้นที่เยาวชนสามารถแสดงให้สังคมเห็นว่า เราเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถสร้างอนาคตที่ดี และในภายภาคหน้ายังมีอีกหลายเวที หลายพื้นที่ ที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน และจากการดำเนินงานตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โครงการฯ ได้สนับสนุนให้เยาวชนคนรุ่นใหม่จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาชุมชนยั่งยืน โดยยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม อันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศต่อไป ”

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

CP LAND ผนึกกำลังครั้งยิ่งใหญ่กับ 17 พันธมิตร อัดแคมเปญแรงส่งท้ายปี ‘ สิงโต นำโปร ’

CP LAND ปรับแผนสื่อสารเจาะนิวเจน พบถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ ติดชาร์ตอันดับ 2 จากผลสำรวจของ Zanroo ...

3 หน่วยงาน ขานรับนโยบาย กระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) อย่างมีระบบ ...