“ กรม ชป. ” เร่งติดตามโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร ระดมความเห็นประชาชนเพิ่มประสิทธิภาพแก้น้ำท่วมเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ...
‘ กรมชลประทาน ’ ติดตามความก้าวหน้างานสำรวจ ออกแบบโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร ระยะทาง 11.711 กม. ระบายน้ำผ่านอุโมงค์ระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและการระบายน้ำของพื้นที่แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย พร้อมทั้งแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน นำคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้างานสำรวจ ออกแบบโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ จากการที่การระบายน้ำของเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ไม่สามารถระบายน้ำได้เต็มศักยภาพ ทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งจากผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาโครงการ เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในแนวทางต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ปัญหาเพื่อและนำไปสู่การจัดทำแผนการพัฒนาโครงการ ควบคู่ไปกับการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนนำไปสู่การเสนอโครงการกับคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่ออนุมัติแผนการพัฒนาต่อไป
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า.. กรมชลประทานได้มอบให้กิจการร่วมการค้า PWFS JV ดำเนินการสำรวจออกแบบ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของแผนงาน ที่ 4 ของโครงการปรับปรุงโครงข่ายระบบชลประทานฝั่งตะวันตก จาก 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยการบริหารจัดการน้ำหลากเมื่อฝนตกในพื้นที่ตั้งแต่ตอนบนคลองภาษีเจริญจนถึงคลองมหาชัย จะระบายน้ำทั้งแนวเหนือ-ใต้ ออกสู่ทะเลร่วมกับการระบายน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาไม่เกินศักยภาพของสถานีสูบน้ำเดิมที่มีอยู่บริเวณริมแม่น้ำ และเพื่อกักเก็บน้ำและนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง
“ สำหรับแผนการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด มีระยะทาง 11.711 กิโลเมตร โดยจุดเริ่มต้นของอุโมงค์อยู่ที่อาคารรับน้ำคลองภาษีเจริญ ในพื้นที่ ต.สวนหลวง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และสิ้นสุดที่อาคารปลายอุโมงค์ระบายน้ำที่คลองมหาชัยในพื้นที่ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร โดยสามารถระบายน้ำได้ 60 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำและการระบายน้ำของพื้นที่แก้มลิงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย และควบคุมระดับน้ำทะเล พร้อมอาคารประกอบ งานปรับปรุงระบบไฟฟ้า/เครื่องกลของประตูระบายน้ำเดิม 13 แห่ง และก่อสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติม 1 แห่ง ” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ การออกแบบโครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด ประกอบด้วย 1.อาคารรับน้ำคลองภาษีเจริญ เนื้อที่ 3.50 ไร่ ตัวอาคารก่อสร้างให้มีลักษณะเหมือนเรือ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำ จ.สมุทรสาคร โดยออกแบบอาคาร มีบานระบายน้ำ จำนวน 3 บาน กว้าง 4.50 เมตร สูง 5 เมตร พร้อมเครื่องกว้านบานระบาย ติดตั้งตะแกรงดักขยะ จำนวน 3 ชุด และตะแกรงดักขยะอัตโนมัติ จำนวน 3 ชุด พร้อม Gantry Crane จำนวน 2 ชุด
2. อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด เริ่มจากอาคารรับน้ำคลองภาษีเจริญ ซึ่งมีปล่องอุโมงค์ จำนวน 5 ปล่อง ประกอบด้วย ปล่องอุโมงค์คลองภาษีเจริญ, ปล่องอุโมงค์ (ชั่วคราว), ปล่องอุโมงค์รับน้ำเข้าและปล่องอุโมงค์ระบายน้ำออกของสถานีสูบน้ำใต้คลองบางน้ำจืด และปล่องอุโมงค์ของอาคารปลายอุโมงค์ระบายน้ำ ซึ่งอุโมงค์อยู่ลึกจากตลิ่งประมาณ 30 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางภายใน 6 เมตร ระยะทาง 11.711 กิโลเมตร อัตราการระบายน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที
3. อาคารสถานีสูบน้ำอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางน้ำจืด ตั้งอยู่ใน ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร มีพื้นที่ จำนวน 11.75 ไร่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 28 เมตร ยาว 70 เมตร สูง 14.60 เมตร อัตราการสูบน้ำ 60 ลบ.ม./วินาที ใช้เครื่องสูบน้ำชนิด Tubular Pump จำนวน 3 เครื่อง โดยสะพานรถยนต์เข้าสถานีสูบน้ำคลองบางน้ำจืด เนื้อที่ 2.25 ไร่ เชื่อมต่อกับถนนทางหลวงชนบท สค.2004 (เมืองสมุทรสาคร) ความยาวสะพาน 225 เมตร ความยาวช่วง 15 เมตร และความกว้างรวมของสะพาน 11.50 เมตร ประกอบด้วย ความกว้างผิวจราจร 9 เมตร จำนวน 2 ช่องจราจร ทางเท้ากว้าง 1.25 เมตร และ
4. อาคารปลายอุโมงค์ระบายน้ำ ตั้งอยู่ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร ออกแบบอาคารมีบานระบายน้ำ จำนวน 3 บาน กว้าง 4.50 เมตร สูง 5 เมตร พร้อมเครื่องกว้านบานระบาย ติดตั้งตะแกรงดักขยะ จำนวน 3 ชุด และ Gantry Crane จำนวน 2 ชุด
ทั้งนี้ แผนงานสำรวจออกแบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองน้ำจืด มีกำหนดระยะเวลา 540 วัน (2563-2564) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 หลังจากนั้นจะนำเสนอโครงการฯต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) เสนอเปิดโครงการต่อคณะรัฐมนตรี จัดเตรียมเอกสารประมูล เตรียมการก่อสร้าง และดำเนินการก่อสร้างโครงการประมาณปี 2567-2671 ซึ่งหากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยระบายน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตอนบนคลองภาษีเจริญจนถึงคลองมหาชัย-คลองสนามชัย และยังช่วยพร่องน้ำในคลองภาษีเจริญ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำหลากตอนบนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และช่วยการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการบริหารจัดการน้ำเพื่อการกักเก็บน้ำไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในช่วงฤดูฝนและฤดูแล้ง ...
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น